ประกายไฟย้ายบ้านไปที่ http://iskragroup.blogspot.com

วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552

จดหมายถึงเมืองไทย ภาพตัดต่อหกตุลาและภาพตัดต่อคานธี ความเหมือนที่จบต่าง



5 ตุลาคม 2552
New Delhi Republic of India


วันนี้สำหรับคนทั่วๆไปในสังคมไทยวันนี้ก็คงเป็นแค่วันธรรมดาคนหนึ่ง สำหรับสังคมที่ลืมง่ายอย่างสังคมไทยแล้วภาพชาวพุทธคนหนึ่งเอาเก้าอี้หวดไปที่ศพของคนอีกคนหนึ่งอย่างไม่ปราณีปราศัยบริเวณท้องสนามหลวงตรงข้ามวัดพระแก้วสถานที่ศักสิทธิของศาสนาพุทธศาสนาที่ว่ากันว่าสอนถึงความเมตตาคงเป็นภาพที่ถูกลืมไปแล้วพร้อมๆกับตัวเลขในปฎิทินที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ดีสำหรับผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหยื่อในเหตุการณ์หรือผู้รักความธรรมที่ได้ศึกษาประวัติศาตร์การเมืองที่ชุ่มไปด้วยเลือดของรัฐไทย ภาพอันน่าอัปยศนี้คงจะเป็นอะไรที่ลืมไม่ลง จุดเริ่มต้นของการสังหารโหดเมื่อเช้าตรู่วันที่หกตุลานั้นมาจากภาพการแสดงละครล้อระหว่างการประท้วงการกลับเข้าประเทศของพระถนอม จากกรณีการอุ้มฆ่าและแขวนคอสองพนักงานการไฟฟ้าที่ติดโปสเตอร์ประท้วงการกลับมาของพระถนอม ผู้ชุมนุมที่กรุงเทพได้ทำการแสดงละครล้อเพื่อประท้วงการสังหารโหดครั้งนี้ทว่านั่นกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความโหดร้าย ได้มีผู้นำภาพการแสดงละครล้อนั้นเผยแพร่และปลุกระดมว่าผู้ชุมนุมดูหมิ่นบุคคลสำคัญของชาติและต้องการทำลายสถาบันอันเป็นที่เคารพยิ่ง มีการถกเถียงกันต่างๆนานาว่าภาพนี้มีการตัดต่อหรือไม่และถ้ามีการตัดต่อใครเป็นคนทำไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรทว่าภาพเจ้าปัญหานี้ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การนองเลือด จดหมายฉบับนี้ผมคงจะไม่พูดถึง6ตุลาในแง่ประวัติศาสตร์เพราะคงมีคนพูดถึงกันมากแล้วอีกทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมคงจะพูดถึงเรื่องราวต่างๆได้ดีกว่าผมที่ยังคงไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้กระทั้ง8ปีหลังเหตุการณ์แต่อย่างไรก็ดีภาพบางภาพที่ผมได้เห็นเมื่อสองสามวันก่อนระหว่างที่กำลังศึกษาต่อที่ประเทศอินเดียนี้ได้จุดประกายให้ผมเขียนจดหมายฉบับนี้ขึ้นมา

สองตุลาคมเป็นวันคล้ายวันเกิดของคานธีผู้ที่ ผู้นำการต่อสู้คนสำคัญคนหนึ่งของอินเดียที่ต่อสู้เพื่อการเป็นเอกราชจากอังกฤษจนได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของประเทศ วันเกิดของเขากลายเป็นวันหยุดประจำชาติและใบหน้าของเขาก็ได้ถูกพิมพ์ลงในธนบัตรทุกราคาที่ใช้ในประเทศนี้ จากตรงนี้คงไม่ต้องบอกว่าสำหรับสังคมอินเดียเขาได้รับการยกย่องมากแค่ไหน ทว่าเนื่องจากคานธีเป็นผู้มีหัวอนุรักษ์นิยมเชิงศาสนาและเชื่อมั่นในระบบวรรณะกลุ่มคนชั้นล่างกลุ่มหนึ่งจึงไม่ค่อยชอบใจนโยบายที่อิงศาสนาและมองสังคมผ่านแว่นระบบวรรณะของคานธี เมื่อวันที่สองที่ผ่านมาขณะไปซื้อข้าวที่แคนทีนผมได้เห็นภาพโปสเตอร์ภาพหนึ่งของกลุ่มนักเรียนที่มาจากวรรณะระดับล่างเชิญชวนให้ไปร่วมฟังการเสวนาในหัวข้อว่าคานธีกับความรุนแรงที่มีต่อคนวรรณะล่าง บนโปสเตอร์มีภาพตัดต่อเอาหน้าของคานธีไปวางบนร่างของแรมโบ้กล้ามใหญ่ถือปืนกระบอกโต ที่ร่ายยาวมานี้ดูเหมือนว่ามันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเหตุการณ์หกตุลาเลย แน่นอนว่าคานธีนั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกับหกตุลาแต่สิ่งที่ผมกำลังจะสื่ออยู่ตรงที่การเปรียบเทียบความเหมือนกันในเหตุการณ์(ภาพตัดต่อ)กับผลลับที่แตกต่างระหว่างที่อินเดียกับไทย

สำหรับอินเดียคนอินเดียโดยส่วนใหญ่มองคานธีอย่างศรัทธาและชื่นชมทว่าเมื่อกลุ่มนักศึกษาที่มีความเห็นต่างทำการติดโปสเตอร์ที่ตัดต่อรูปของคานธีกับแรมโบกลุ่มผู้ที่สนับสนุนคานธีกลับไม่มีการดำเนินการต่อต้านที่รุนแรง ไม่มีการใช้กำลัง เข้าทำร้ายผู้ติดโปสเตอร์หรือเข้าไปทลายการเสวนาของกลุ่ม ตรงจุดนี้นี่เองที่แสดงถึงเสรีภาพในการแสดงออกและการยอมรับความแตกต่างอย่างสันติ สิ่งที่ผู้สนับสนุนคานธีทำคือการติดโปสเตอร์หรือการจัดเสวนาตอบโต้เท่านั้นซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งปกติตามระบบประชาธิปไตยทว่าไม่มีการก้าวล่วงไปสู่การใช้กำลังใดๆทั้งสิ้น สิ่งนี้แหละที่สังคมไทยยังขาดไปนั่นคือการยอมรับความเห็นต่างและเสรีภาพในการแสดงออก แม้ว่าในมุมหนึ่งอินเดียอาจจะดูเป็นสังคมที่ปิดกว่าไทยเช่นด้วยว่ามีปัจจัยด้านศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องดังนั้นเช่นการแต่งกายที่นี่ผู้หญิงดูจะแต่งกายมิดชิดกว่าผู้หยิงไทยหรือด้านความเป็นเมืองและความเจริญทางวัตถุที่อินเดียดูจะล้าหลังแต่ทว่าด้านสิทธิเสรีภาพและการเคารพในความเห็นต่างทางการเมืองเราดูจะล้าหลังกว่าเขาหลายขุม การที่ภาพล้อเลียนคานธีไม่นำไปสู่เหตุการณ์2ตุลาที่นี่ ขณะที่ในไทยภาพละครล้อจากการชุมนุมได้นำไปสู้การเข่นฆ่าที่ทารุณจากน้ำมือของผู้ที่ปาวารณาตนว่าเป็นชาวพุทธผู้มีเมตตาโดยมีสถานที่สำคัญทางศาสนาพุทธเป็นฉากหลังเหตุการณ์ที่มีจุดเริ่มต้นเหมือนกันนี้กลับมีจุดจบที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

หกตุลาในแง่นึงมันคือประวัติศาสตร์ที่จบไปแล้วแต่หากเรามองอีกมุมหนึ่งหกตุลาก้อยังคงเกิดขึ้นวนเวียนอยู่บ่อยๆที่หลายครั้งหลายคราการแสดงความเห็นต่างได้จบลงด้วยความรุนแรงแม้จะไม่เท่าระดับหกตุลานั่นไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์รูปแบบเดียวกันจะไม่เกิดขึ้นอีก ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองไทยที่กำลังเข้มขึ้นไปทุกขณะในปัจจุบันนี้ถ้าสังคมไทยยังไม่ยอมรับความต่างอย่างสันติเหตุการณ์หกตุลาอาจหวนคืนมาอีกในเวอร์ชันที่รุนแรงกว่าก็เป็นไปได้ สุดท้ายนี้ผมคงขอร่วมไว้อาลัยให้กับเหยื่อหกตุลารวมไปถึงผู้ถูกปราบปรามและสังหารโดยไร้ความอยุติธรรมทุกท่านและขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่สูญเสียคนรัก ผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หกตุลารวมไปถึงเหตุการณ์รุนแรงอื่นๆและผู้ที่กำลังตกเป็นจำเลยสังคมเพียงเพราะความเห็นต่างทุกท่านครับหวังว่าฝันร้ายเมื่อปี2519คงจะไม่หวนกลับมาหลอกหลอนสังคมไทยอีกคราหนึ่ง


ด้วยจิตคารวะ
Benjamin Franklin
Comment by แมน ประกายไฟ

หลังจากอ่านจบแล้ว ถ้าผมเข้าใจประเด็นไม่ผิด นำเสนอเรื่องการยอมรับความคิดที่แตกต่างแม้ต่อสิ่งตัวเองเคารพสินะครับ

ผมคิดว่าประเด็นที่เสนอค่อนข้างใช้ได้ดีนะครับ แต่ผมคิดว่าไม่ชอบในบางประโยค ซึ่งผมคิดว่าเป็นการตีขลุมมากเกินไป

เช่นประโยคที่ว่า "...ภาพชาวพุทธคนหนึ่งเอาเก้าอี้หวดไปที่ศพร่างหนึ่งอย่างไม่ปราณีปราศัย..." สามารถเคลมได้จริงหรือเปล่าว่าคนในภาพนั้นเป็นคนที่นับถือพุทธจริงๆ?

ok อาจจะกล่าวว่า เพราะการที่สมัยนั้นมีการเสนอ motto "คอมมิวนิสต์ ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" และมีการขยายความต่อว่าศาสนาที่แสดงถึงความเป็นไทยคือ ศาสนาพุทธ หรือการกล่าวว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติก็ตาม แต่สามารถเคลมได้จริงหรือเปล่าว่าคนที่ก่อการในวันนั้นทุกคนเป็นคนพุทธ? เมื่อเช่นนั้นก็พูดยากนะครับว่าคนที่ถือเก้าอี้คนนั้นจะนับถือศาสนาอะไร อาจบางทีเขาอาจจะนับถือศาสนาพุทธจริงๆ แต่ถ้าไม่มีหลักฐานเชิงพอมันก็เคลมลำบากนะครับ

แม้ผมจะเห็นด้วยกับการวิพากษ์การชอบเคลมตัวเองของคนไทยว่าเป็นเมืองพุทธ เป็นชาวพุทธ แต่มิได้กระทำให้พึงสอดคล้องกับสิ่งที่เรียกว่าแนวคิดแบบพุทธก็ตาม แต่นั้นคือภาพแบบมหภาค แต่การกล่าวถึงบุคคลแบบย่อยเช่น การบอกว่าคนที่ถือเก้าอี้คนนั้นเป็นพุทธมันก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีหลักฐานเฉพาะตัวกับบุคคลคนนั้นเช่นกันครับ

ไม่มีความคิดเห็น: