ประกายไฟย้ายบ้านไปที่ http://iskragroup.blogspot.com

วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ประกายไฟเสวนา ตอน “รัฐธรรมนูญที่ดีควรเป็นอย่างไร”

เสวนาเชิงปฏิบัติการ



“รัฐธรรมนูญที่ดีควรเป็นอย่างไร”
วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม 2552 เวลา 13.00-16.00 น.
ณ ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน

หลักการ

นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญถึง 18 ฉบับ ลักษณะร่วมที่สำคัญของรัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับก็คือ หลักการ เป้าหมาย และกระบวนการร่างที่จำกัดผูกขาดและตอบสนองผลประโยชน์เฉพาะกับบุคคลไม่กี่กลุ่ม ซึ่งเป็นชนชั้นนายทุน อภิสิทธิ์ชน คนร่ำรวย ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ความสำคัญกับบทบาทของนักวิชาการหอคอยงาช้าง ทหาร นักกฎหมาย และข้าราชการ ซึ่งไม่เคยสัมผัสใกล้ชิดกับคนธรรมดาๆซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม ผลก็คือ รัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับล้วนแล้วแต่พูดถึงแต่หลักการของการบริหารจัดการสถาบันทางการเมืองของรัฐเท่านั้น โดยไม่ได้แตะต้องหรือแก้ไขปัญหาใหญ่ของสังคมไทย นั่นคือ ความไม่เท่าเทียม การกดขี่ขูดรีด และการไม่มีความมั่นคงในชีวิตของพี่น้องเกษตรกรและผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างแท้จริง
การที่สังคมไทยมีรัฐธรรมนูญมากถึง 18 ฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่มีที่มาจากการทำรัฐประหารและมาจากการร่างกันขึ้นของคนไม่กี่คนนั้น เป็นภาพสะท้อนอย่างดีว่า รัฐธรรมนูญไม่สามารถและไม่มีวันจะทำหน้าที่เป็นกติกาหรือหลักการสูงสุดของการปกครองดูแลสังคมอย่างที่ตั้งใจไว้ ยิ่งไปกว่านั้น ในขณะนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังจะดำเนินการปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งพวกเราในฐานะที่เป็นองค์กรภาคประชาชน ไม่ควรจะไว้วางใจให้รัฐบาล เนติบริกร รวมไปถึงนักวิชาการหอคอยงาช้างจำนวนหนึ่งทำหน้าที่กำหนดทิศทางการพัฒนาประชาธิปไตยแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งแน่นอนว่า รัฐธรรมนูญหรือระบอบการเมืองการปกครองที่มาจากปลายปากกาของคนเหล่านี้คงจะไม่สอดคล้องกับการสร้างรัฐสวัสดิการ ประชาธิปไตยที่กินได้ การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งเป็นความต้องการของพวกเราเป็นแน่แท้
ดังนั้น นี่จึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญของพวกเราในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ “การเมืองภาคประชาชน” ที่จะทำหน้าที่กำหนดวิถีชีวิตและรูปแบบการปกครองของพวกเราเอง กลุ่มประกายไฟ จึงขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการเสวนาเชิงปฏิบัติการร่วมกับตัวแทนพี่น้องเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน และตัวแทนของนักศึกษาคนรุ่นใหม่ ที่จะมาแลกเปลี่ยนเพื่อหาคำตอบร่วมกันว่า “รัฐธรรมนูญที่ดี ที่ตอบสนองความต้องการของพวกเรา และที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ควรมีหน้าตาอย่างไร”





กำหนดการ
เสวนาเชิงปฏิบัติการ “รัฐธรรมนูญที่ดีควรเป็นอย่างไร”
วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม 2552 เวลา 13.00-16.00 น.
ณ ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน


12.00 – 13.00 น. ลงทะเบียน
13.00 – 16.00 น. เสวนาเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “รัฐธรรมนูญที่ดีควรเป็นอย่างไร”
นำเสนอโดย
บุญรอด สายวงศ์ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ
เจียระไน นะแส กลุ่มสะพานสูง ธรรมศาสตร์
แบงค์ งามอรุณโชติ กลุ่มแรงคิด
ดำเนินรายการโดย
ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กลุ่มประกายไฟ



บรรยากาศ ประกายไฟเสวนา ตอน “รัฐธรรมนูญที่ดีควรเป็นอย่างไร”

วิทยากรจากขวามือไปซ้ายมือ คุณเจียระไน นะแส กลุ่มสะพานสูง ธรรมศาสตร์ คุณษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กลุ่มประกายไฟ

คุณบุญรอด สายวงศ์ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ และคุณแบงค์ งามอรุณโชติ กลุ่มแรงคิด

ผู้เข้าร่วมงานประกายไฟเสวนา นักศึกษา แรงงาน นักกิจกรรมและประชาชนทั่วไป ประมาณ 60 ท่าน

พร้อมถ่ายทอดสดผ่านทางเวปนิวสกายไทยแลนด์

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

แถลงการณ์ของกลุ่มผู้ใช้แรงงานและกลุ่มพันธมิตรนิสิตนักศึกษา ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้

(โทษทีครับเอาของเก่ามาลง พอดีจะรวบรวมกิจกรรมของกลุ่มครับเลยต้องเอามาลง)


1 กันยายน 2551

จากเหตุการณ์การชุมนุมยืดเยื้อและความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการปะทะกันระหว่างรัฐบาลพรรคพลังประชาชน และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในช่วงเวลาที่ผ่านมาอันเป็นความขัดแย้งทางการเมืองของฝ่ายชนชั้นนายทุน มิใช่การต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของชนชั้นล่างอย่างแท้จริง กลุ่มผู้ใช้แรงงานและกลุ่มพันธมิตรนิสิตนักศึกษาที่ลงนามในแถลงการณ์ฉบับนี้มีความคิดเห็นและข้อเรียกร้องต่อสังคม ดังต่อไปนี้
1. เราคัดค้านการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ตำรวจทหารในการปราบปรามผู้ชุมนุมทางการเมือง และการประกาศสภาวะฉุกเฉินของฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งการเรียกร้องยั่วยุให้รัฐใช้ความรุนแรงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เช่น การเรียกร้องให้ทหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครองเข้ามาทำรัฐประหาร
2. เราต้องไม่ประณามวิธีการต่อสู้ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือวิธีการที่ไม่ใช่ "สันติวิธี" ไม่ว่ากลุ่มนั้นๆจะมีจุดยืนทางการเมืองแบบใดก็ตามหากเป็นการกระทำเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้กับรัฐ เช่น การชุมนุมแบบปิดถนน การยึดสถานที่ราชการ และการนัดหยุดงานแบบผิดกฎหมาย ซึ่งวิธีการทั้งหมดนี้เป็นวิธีการต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นล่างทั้งในประเทศและในระดับสากลในการต่อสู้กับความยุติธรรมปลอมๆที่สร้างขึ้นโดยระบบทุนนิยมและรัฐตลอดมา
3. เราคัดค้านแนวทาง "การเมืองใหม่" ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เสนอให้ตัวแทนของประชาชนในรัฐสภามาจากการแต่งตั้ง หรือที่เรียกว่า "70: 30" ซึ่งข้อเสนอเช่นนี้เป็นข้อเสนอที่จำกัดสิทธิในทางการเมืองของชนชั้นล่าง เราเสนอว่า ทางออกจากปัญหาดังกล่าวต้องใช้วิธีการปฏิรูปและพัฒนาสถาบันทางการเมืองที่เป็นไปเพื่อสนับสนุนและเพิ่มอำนาจให้แก่ประชาชนมากกว่าที่จะเป็นการถอยหลังเข้าคลองไปสู่ระบอบเผด็จการเช่นข้อเสนอของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
4.อันเนื่องมาจากการเมืองทั้ง 2 ขั้วในปัจจุบัน คือ รัฐบาลพรรคพลังประชาชน และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่างแสดงจุดยืนทางการเมืองแบบชาตินิยมและอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว ซึ่งจุดยืนทางการเมืองเช่นนี้ไม่ใช่ข้อเสนอหรือแนวทางการเมืองที่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์จริงของคนชั้นล่าง ทั้งที่เป็นกรรมกร เกษตรกร คนจนเมือง ฯลฯ เราในฐานะกลุ่มผู้ใช้แรงงานและกลุ่มพันธมิตรนิสิตนักศึกษาที่ลงนามในแถลงการณ์นี้เสนอให้มีการพูดถึงการปฏิรูปการเมืองและสังคมโดยมีการเก็บภาษีทางตรงในอัตราก้าวหน้า ภาษีมรดก ภาษีที่ดินจากคนร่ำรวย เพื่อการสร้างรัฐสวัสดิการที่ดูแลชีวิตของประชาชนตั้งแต่เกิดจนตายอย่างเป็นรูปธรรม


กลุ่มประกายไฟ
กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง
สหพันธ์สิ่งทอและเครื่องหนังแห่งประเทศไทย

แรงงานร่วมขบวนนักศึกษาชุมนุมหน้ารัฐสภา หนุนรัฐสวัสดิการ




1 พ.ค. 52 กรรมกรสากล ต้องสู้เพื่อ รัฐสวัสดิการ ยกเลิกเหมาค่าแรง สินค้าต้องราคาถูก



กลุ่มสหภาพแรงงานย่างรังสิตและใกล้เคียง ร่วมกับสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) กลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตยธรรมศาสตร์ กลุ่มเวียงผาสัมมนาราม และกลุ่มประกายไฟ กว่า 200 คน ร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องใน “วันกรรมกรสากล” โดยเมื่อเวลา 10.00 น.มีการตั้งขบวนบนถนนสุโขทัย บริเวณหน้าสวนสัตว์เขาดิน จากนั้นได้เดินขบวนไปชุมนุมที่หน้ารัฐสภา


ขับกล่อมโดยบทเพลงจาก สนนท.


ในการชุมนุมได้เชิญชวนให้ประชาชนและคนทำงานทั่วไป ร่วมรณรงค์ให้รัฐบาลดำเนินการใน 3 ข้อ คือ 1.ให้ประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการ 2.ให้รัฐบาลรัฐบาลยกเลิกการจ้างงานเหมาค่าแรง และควบคุมดูแลไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนสิทธิแรงงานในทุกมิติ และ 3.รัฐบาลต้องควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภค เพื่อประชาชนอย่างเหมาะสม

ป้ายของ สนนท.และกลุ่มประกายไฟ


ละครสะท้อนชีวิตของพี่น้องแรงงาน


ส่วนกิจกรรม มีการปราศรัยเกี่ยวกับข้อเสนอต่างๆ ของผู้เข้าร่วม มีการแสดงดนตรี การแสดงละครสะท้อนชีวิตของคนงาน และในตอนท้ายได้มีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า กลุ่มสหภาพแรงงานย่างรังสิตและใกล้เคียง ร่วมกับองค์กรเพื่อนมิตรทุกองค์กร ขอสัญญาร่วมกันว่าจะร่วมกิจกรรมรณรงค์ร่วมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างพลังในการเรียกร้องต่อรัฐร่วมกัน และจะมีการมาพบกันอีกครั้งที่ตรงนี้

ด้านกลุ่มประกายไฟมีแถลงการณ์เสนอรัฐสวัสดิการคือทางออกในวิกฤติ โดยแรงงานต้องเรียกร้องรัฐสวัสดิการ สังคมใหม่ที่สะท้อนความเสมอภาค และเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทั้งนี้ รัฐสวัสดิการคือสังคมที่ให้หลักประกันในทุกด้าน ตั้งแต่เกิดจนตาย โดยจะนำสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตย เพิ่มอำนาจให้ประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ตัวอักษรตามรัฐธรรมนูญ โดยงบประมาณรัฐสวัสดิการต้องมาจากการเก็บภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีเงินได้ในอัตราก้าวหน้า ดังนั้นรัฐสวัสดิการจึงไม่ใช่การร้องขอ หรือความใจดีของชนชั้นปกครอง แต่ต้องมาจากการต่อสู้ ซึ่งจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของตนเองเพื่อชูรัฐสวัสดิการอย่างแท้จริง






แถลงการณ์ฉบับเต็ม






กลุ่มประกายไฟเสนอ รัฐสวัสดิการคือทางออก ในวิกฤติเศรษฐกิจ!!!







วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีจะเป็นวันที่ชนชั้นปกครองทั่วโลกอกสั่นขวัญแขวนและหวาดกลัวที่สุด เมื่อ ประชาชนที่ทำงานหนักที่สุด ถูกขูดรีดเอาเปรียบที่สุดของทุกสังคมหาญกล้าที่จะรวมตัว หาญกล้าที่จะตั้งคำถามและทวงถามถึงความเป็นธรรม ขณะที่มวลชนรวมตัวและเรียกร้องในนามของผู้ใช้แรงงาน รัฐบาลที่หวาดกลัวประชาชนของตัวเอง จะโฆษณาชวนเชื่อ พร้อมคำหลอกลวง เรียกร้องหาความสมานฉันท์และสามัคคีในชาติ แต่พวกเขาล้วนหลอกลวง....เพราะพวกเขาไม่เคยหยุดขูดรีดเพื่อหาทางสมานฉันท์กับเราแต่อย่างใด เว้นแต่ในหนังสือนิยาย ที่มีในแบบเรียนที่พวกเขาหลอกลวงลูกหลานของพวกเราเท่านั้น
ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจนี้ เราจะพบว่าเหล่านายทุน-ผู้ประกอบการ จะมีมาตรการและข้ออ้างมากมายในการรักษาผลประโยชน์ของพวกเขา พวกเขาจะอ้างถึง สำนึกองค์กร ให้เราเสียสละลาออกเพื่อคนอื่น โดยพวกเขาไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยอะไร ขณะที่พวกเขาเรียกร้องให้พวกเราเสียสละ แต่พวกเขายังคงนอนกลัดกลุ้มบนกองเงินกองทองที่พวกเขาขูดรีดพวกเรามาก่อนหน้านั้น และครุ่นคิดว่าทำอย่างไรจึงจะเขี่ยพวกเราทิ้งอย่างดูดีที่สุด
วิกฤติเศรษฐกิจเป็นเครื่องความพิสูจน์ความจริงใจของพวกเขา.....ว่าเมื่อต้องการลดค่าใช้จ่ายพวกเราจะเป็นพวกแรกที่พวกเขาจะสลัดทิ้งเสมอ พวกเรากลุ่มคนที่ทำงานหนักที่สุดในประเทศและถูกละเลยมาโดยตลอดต้องเรียกร้อง รัฐสวัสดิการ สังคมใหม่ซึ่งะท้อนความเสมอภาค และเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง อันมีองค์ประกอบดังนี้

1.รัฐสวัสดิการคือสังคม ที่ให้หลักประกันในทุกด้าน ตั้งแต่เกิดจนตาย นับแต่การตั้งครรภ์ การเรียนหนังสือที่ฟรีและมีคุณภาพ สวัสดิการด้านที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสม งานที่มีความหมายต่อสังคม ค่าตอบแทนที่เหมาะสมต่อการดำรงชีพและมีเกียรติในสังคม
2.รัฐสวัสดิการจะนำสู่สังคม ที่เป็นประชาธิปไตย เป็นการเพิ่มอำนาจให้กับประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ตัวอักษรตาม รัฐธรรมนูญ
3.งบประมาณรัฐสวัสดิการต้องมาจากการเก็บ ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีเงินได้ในอัตราก้าวหน้า
4.ดังนั้นรัฐสวัสดิการจึงไม่ได้มาจากการร้องขอ...หรือความใจดีของชนชั้นปกครอง หากแต่ต้องมาจากการต่อสู้ ซึ่งเราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของเรา เพื่อชูประเด็นรัฐสวัสดิการอย่างแท้จริง

ติดต่อเราที่ : prakaifire@windowslive.com, prakaifire@gmail.com,
0895363551, 0892583641, 0846601664, http://blogazine.prachatai.com/user/iskra/