ประกายไฟย้ายบ้านไปที่ http://iskragroup.blogspot.com

วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552

แถลงการณ์คัดค้านกรณีการจับกุมชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาทวงสิทธิที่หนองแซง

จากพี่น้องชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมจากก๊าซธรรมชาติ ขนาดกำลังการผลิต 1,600 เมกะวัตต์ ที่จะก่อสร้างในพื้นที่ตำบลหนองแซง จังหวัดสระบุรี ได้ชุมนุมปิดถนนสายพหลโยธินตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2552 และได้ยุติการชุมชนในวันที่ 25 กันยายน 2552 เพื่อแสดงตัวตนและสื่อสารต่อสาธารณะของชาวบ้านที่เป็นเหยื่อของการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรมและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ

ทั้งนี้จากข่าวที่เราได้รับทราบนั้นการต่อสู้ของชาวบ้านได้กระทำผ่านกลไกและกระบวนการตามขั้นตอนราชการโดยการยื่นหนังสือร้องเรียน คัดค้านต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในทุกระดับในท้องถิ่นถึงหน่วยงานรัฐในระดับนโยบาย ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติละสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วุฒิสภา การเข้าพบและยื่นหนังสือต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ทำเนียบรัฐบาล แต่คำตอบที่ชาวบ้านได้รับคือการอนุมัติเห็นชอบผ่านรายงาน อี ไอ เอ ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในพื้นที่เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเหตุที่ทำให้ชาวบ้านผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติอำเภอหนองแซงต้องชุมนุมปิดถนน เพื่อรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับนโยบายลงเจรจาปรึกษาหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับชาวบ้าน

แต่ผลที่พี่น้องเราได้รับคือผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีแจ้งความดำเนินคดีข้อหาปิดถนนทางสาธารณะกับแกนนำชาวบ้าน 6 คน คือ นายนพพล น้อยบ้านโง้ง และนายคูณทวี หรือน้อย ซึ่งเป็นแกนนำคัดค้านบ่อกำจัดขยะเบ็ตเตอร์เวิลด์กรีน และนายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี นายสมคิด ดวงแก้ว นางวัชรี เผ่าเหลืองทอง และนายสุปรีดี หรือเปรี้ยง ซึ่งเป็นแกนนำคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง ด้วยพ.ร.บ.ทางหลวง มาตรา 39 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 229 โดยอ้างว่าทำให้ปิดทางสาธารณะอันน่าจะทำให้เกิดเหตุอันตราย และปรากฏว่าพี่น้องเราถุกจับกุมขณะกลับบ้านไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า 3 คน คือ นายนพพล น้อยบ้านโง้ง และนายคูณทวี หรือน้อย และนายสุปรีดี หรือเปรี้ยง ไปกักขังโดยไม่ยินยอมให้ประกันตัวอีก ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นว่า

1.การชุมนุมของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้านั้นเป็นการชุมนุมตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องสิทธิและแสดงออกซึ่งความเห็นต่อสาธารณะ เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธอันเป็นเสรีภาพ ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2550 ในมาตราที่ 63 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 ได้รองรับและคุ้มครองไว้

2.การออกหมายจับ ถือเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังที่กล่าวไว้ในข้อ 1 และการออกหมายจับดังกล่าวจึงเท่ากับการยอมรับว่าประเทศไทยไม่ได้ปกครองโดยยึดถือหลักการปกครองโดยกฎหมายเป็นใหญ่ (The Rule of Law) อีกต่อไป เพราะเป็นการยอมให้กฎหมายอาญาและจราจรที่มีฐานะต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ มีผลยกเลิกกฎหมายรัฐธรรมนูญไปโดยปริยาย

3.การคัดค้านการประกันตัวนั้น ถือเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักมนุษยธรรม และหลักนิติธรรม ซึ่งถุกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งฉบับพุทธศักราช 2540 และ 2550 ที่ระบุว่า

มาตรา 26 การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา 40 "...บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม...ในคดีอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดี ที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม โอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ การตรวจสอบหรือได้รับทราบพยานหลักฐานตามสมควร การได้รับความช่วยเหลือในทางคดีจากทนายความ และการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว..."

รวมถึงขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 (International Covenant on Civil and Political Rights)ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก มีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม ในข้อ 14 ข้อย่อยที่ 3 ซึ่งบัญญัติว่า “ในการพิจารณาคดีอาญา บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดย่อมมีสิทธิที่จะได้รับหลักประกันขั้นต่ำดังต่อไปนี้โดยเสมอภาค

(ก) สิทธิที่จะได้รับแจ้งโดยพลันซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพและเหตุแห่งความผิดที่ถูกกล่าวหา ในภาษาซึ่งบุคคลนั้นเข้าใจได้

(ข) สิทธิที่จะมีเวลา และได้รับความสะดวกเพียงพอแก่การเตรียมการเพื่อต่อสู้คดี และติดต่อกับทนายความที่ตนเลือกได้”

4.การเพิกเฉยของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อการเรียกร้องในสิทธิชุมชนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบนั้น ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ว่าด้วยเรื่องสิทธิชุมชนใน มาตรา 67 โดยเฉพาะการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพนั้น จะต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริงก่อน

เราจึงขอเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ว่า

1.ดำเนินการเพื่อขอถอนหมายจับแกนชาวบ้านทั้ง 6 คนในทันที

2.ขอให้ระงับการดำเนินการตามโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมจากก๊าซธรรมชาติ ขนาดกำลังการผลิต 1,600 เมกะวัตต์ ที่จะก่อสร้างในพื้นที่ตำบลหนองแซง จังหวัดสระบุรี เสียก่อน เพื่อเปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง

3.รัฐต้องทบทวนนโยบายและความเดือดร้อนต่างๆที่มีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก โดยเร่งแก้ไขปัญหาอย่างจริงๆจังๆ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือผู้ที่ประสบปัญหาเหล่านั้นเขามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะการโฆษณาหรือการพูดเพียงอย่างเดียวไม่ได้ช่วยให้ปัญหามันดีขึ้น

สิ่งที่พี่น้องชาวบ้านที่หนองแซงประสบนั้น ไม่ต่างจากพวกเรา แทนที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่จะหันมาแก้ปัญหาอย่างจริงๆจังๆ ตามความต้องการของพวกเขา กลับซ้ำเติมด้วยการออกหมายจับ โดยเฉพาะช่วงนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่กรณี 3 ผู้นำชุมนุมกรณีเรียกร้องให้รัฐบาลมีการช่วยเหลือเรื่องราคาข้าวนาปรังที่ตกต่ำ ที่เชียงรายถูกที่จำคุก 6 เดือน เมื่อ 23 กรกฎาคม 2552 ต่อด้วยสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย สหภาพแรงงาน อิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ในเครือ ซึ่งเป็นคนงานบริษัทเอนี่ออน อิเล็กทรอนิกส์(ไทยแลนด์) จำกัด และคนงานบริษัท เวิล์ลเวลล์การ์เม้นท์ที่เดินทางมายื่นข้อเรียกร้องและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของรับบาลบริเวณหน้าทำเนียบและรัฐสภา ในวันที่ 27 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากได้ได้รับความสนใจจากรัฐบาลแล้วยังถูออกหมายจับ 3 แกนนำ ด้วยข้อหาก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และ 216 เช่นเดียวกับคนขายหวยจากจังหวัดเลยที่มาประท้วงกระทรวงการคลังไม่จัดสรรโควตาสลาก เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา และล่าสุดก็กรณีที่พี่น้องชาวบ้านที่หนองแซงประสบ

การกระทำเช่นนี้เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นธรรม มองชาวบ้านและแรงงานที่เดือดร้อนเป็นศัตรูของรัฐบาล กระทำการที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ ลิดลอนสิทธิเสรีภาพ สิทธิพลเมืองของประชาชน เป็นการทำลายความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและได้ปลูกฝังความเกลียดชังรัฐที่ใช้อำนาจทางกฎหมายบีบบังคับชาวบ้านและแรงงานผู้เดือดร้อน ตลอดจนเป็นการกระทำที่สร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนกับรัฐให้กว้างออกไปยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้เราจึงเรียกร้องให้ยุติพฤติกรรมดังกล่าวเสียก่อนที่จะไม่มีโอกาสที่จะได้ยุติ

หยุดมองประชาชนเป็นศัตรู เคารพสิทธิของประชาชน ประชาชนต้องมีส่วนร่วม

บัส ประกายไฟ

ไม่มีความคิดเห็น: