ประกายไฟย้ายบ้านไปที่ http://iskragroup.blogspot.com

วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สารคดี ของ Aljazeera เรื่องกฏหมายไทยเรื่องหมิ่นฯ

สารคดี ของ Aljazeera เรื่องกฏหมายไทยเรื่องหมิ่นฯ ที่ออกอากาศในรายการ People & Power วันที่ 14 Feb 09 วันแห่งความรักพอดี


วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

รัฐสวัสดิการคือทางออกในวิกฤติเศรษฐกิจ!!!


23 ก.พ.52 เวลาประมาณ 9.00 น. กลุ่มประกายไฟได้เข้าร่มกับ แรงงานและนักศึกษา ประมาณ 400 กว่าคน ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก สหภาพแรงงานแคนาดอล กลุ่มประสานงานกรรมกร กลุ่มลูกจ้างที่เป็นแรงงานจ้างเหมาทำงานในบริษัท รอยัล ปอร์ชเลน จำกัด (มหาชน) หรือ RPC และ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ได้รวมตัวกันบริเวณหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า พร้อมปราศรัยถึงปัญหาที่แรงงานประสบในขณะนี้



หลังจากนั้นเวลา 10.00 น. ได้เคลื่อนขบวนมาหน้าทำเนียบบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ซึ่งบริเวณดังกล่าวก็ได้มีสหภาพแรงงานแคนาดอลที่ชุมนุมกันมา 2 สัปดาห์แล้ว (ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัท แคนาดอล เอเชีย จำกัด ผู้ผลิตท่อส่งก๊าซและท่อน้ำมัน นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ต.มาบยางพร อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ได้ปักหลักชุมนุมอยู่แล้วตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ.52 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาการเลิกจ้างงาน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้ชุมนุมกันที่หน้าโรงงานตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค.52)



โดยการระหว่างการชุมนุมได้มีการปราศรัยประเด็นปัญหาที่แรงงานประสบและข้อเรียกร้อง จากกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก เพื่อแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงาน โดยมีมาตรการดังต่อไปนี้



1. ให้ดำเนินคดีกับนายจ้างให้ถึงที่สุดกรณีที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือมีการละเมิดกฎหมายแรงงานโดยเจตนาในกรณีเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานและกรรมการลูกจ้าง



2. ห้ามมิให้นายจ้างปิดงานหรือเลิกจ้างคนงาน และให้ทุกบริษัทต้องจัดทำแผนงานเพื่อรองรับและแก้ไขปัญหา ด้วยวิธีการอื่นแทนการเลิกจ้างคนงานโดยกำหนดนโยบายและจัดทำแผนงานให้ชัดเจน หรือให้รัฐเข้าแทรกแซง โดยการเข้าไปถือหุ้น และบริหารในสถานประกอบการ



3. เมื่อมีการเลิกจ้างพนักงานเกิดขึ้นโดยอ้างว่าบริษัทประสบภาวะวิกฤติ ขอให้รัฐเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นไปตามที่บริษัทกล่าวอ้างหรือไม่ ถ้าไม่เป็นจริงให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานโดยไม่มีเงื่อนไข และถ้านายจ้างประสบปัญหาจริงรัฐต้องจัดให้ลูกจ้างได้รับสิทธิตามกฎหมายที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิ์ได้รับ



4. สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินทดแทนกรณีว่างงานให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง ๕๐% ทุกกรณีโดยไม่มีเงื่อนไขเป็นเวลาหนึ่งปี และกรณีลูกจ้างใช้สิทธิเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ในพระราชบัญญัติปี พ.ศ. 2533 ให้จ่ายเงินสมทบเฉพาะส่วนลูกจ้างเท่านั้น



5. ประเทศไทย ต้องก้าวไปสู่การเป็นประเทศรัฐสวัสดิการ ซึ่งรายได้ต้องมาจากการจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยผู้ที่ผู้มีรายได้มากต้องจ่ายมากส่วนผู้ที่มีรายได้น้อยต้องจ่ายน้อย เพิ่มการเก็บภาษีทางตรงกับคนรวยทุกคน เก็บภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน และเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนโดยการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม



6. รัฐบาลต้องยกเลิกกฎหมาย เรื่อง “การจ้างงานในระบบเหมาค่าแรง” เนื่องจากทำให้ผู้ใช้แรงงานขาดความมั่นคงในการประกอบอาชีพ และถูกเอาเปรียบจากนายจ้างประเภทกิจการเหมาค่าแรงโดยการละเมิดสิทธิ์ขั้นพื้นฐานตามกฎหมายแรงงานทุกรูปแบบ ทำให้บริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนขาดความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์



7. ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างเต็มจำนวนในระหว่างที่นายจ้างประกาศให้ลูกจ้างหยุดงานชั่วคราวเนื่องจากผลประโยชน์ของนายจ้าง หรือเนื่องจาการประกาศใช้มาตรา ๗๕ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ ๒ โดยมิชอบ



8. รัฐบาลต้องนำร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ............ (ฉบับบูรณาการที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมร่างกฎหมาย) เพื่อให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรโดยด่วน



และกลุ่มประกายไฟที่มาร่วมชุมนุมก็ได้แจกใบปลิว “รัฐสวัสดิการคือทางออกในวิกฤติเศรษฐกิจ!!!” ซึ่งเสนอทางออกในวิกฤติเศรษฐกิจนี้ โดยเรียกร้องให้ผู้ใช้แรงงานรวมตัวกันสร้างพรรคการเมืองและเก็บภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีเงินได้ในอัตราก้าวหน้า เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ โดยมีเนื่อหาดังนี้





รัฐสวัสดิการคือทางออกในวิกฤติเศรษฐกิจ!!!

ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน การดำเนินชีวิตของประชาชนผู้ใช้แรงงานทั่วไปเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้น ด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ใช้แรงงานหากไม่ถูกเลิกจ้างก็ต้องรับค่าจ้างที่น้อยลง หรือไม่ก็ต้องทำงานหนักมากขึ้นเมื่อเพื่อนร่วมงานของเราถูกไล่ออกเพื่อรักษากำไรของผู้ประกอบการซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มั่งคั่งและร่ำรวยจากการทำงานของเรา-ผู้ใช้แรงงานมาโดยตลอด ไม่เว้นแม้แต่ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ



ขณะเดียวกันรัฐบาลแทบทุกชุดยังคงมุ่งรักษาผลประโยชน์ของผู้ประกอบการและคนรวยอย่างต่อเนื่อง พวกเขามองว่าชีวิตที่ไร้หลักประกันของเราผู้ใช้แรงงานเป็นเรื่องปกติ เป็นความโชคร้ายของพวกเรา...พวกเขาพร้อมจะช่วยเหลือด้วยเศษเนื้อที่พวกเขาขูดรีดจากเงินภาษีของพวกเรา...ซึ่งทุกคนต่างตระหนักดีว่า เงินช่วยเหลืออันน้อยนิดของรัฐบาลไม่ทำให้ชีวิตของพวกเรามั่นคงขึ้นแม้แต่นิดเดียว...ในเมื่อเราได้รับค่าจ้างเพียงแค่กันตาย ลูกต้องเรียนหนังสือ ต้องดูแลพ่อ-แม่สูงอายุ(ซึ่งไม่มีหลักประกันเช่นเดียวกัน) มีค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัย และเมื่อเราตกงาน ....เรื่องเหล่านี้สาเหตุไม่ใช่เพราะความโชคร้าย....แต่เป็นเพราะการที่พวกเขาขูดรีด เอาเปรียบพวกเราอย่างเป็นระบบ....แต่วิกฤติเศรษฐกิจเป็นเครื่องความพิสูจน์ความจริงใจของพวกเขา.....ว่าเมื่อต้องการลดค่าใช้จ่ายพวกเราจะเป็นพวกแรกที่พวกเขาจะสลัดทิ้งเสมอ

พวกเรากลุ่มคนที่ทำงานหนักที่สุดในประเทศและถูกละเลยมาโดยตลอดจะต้องร่วมกันเรียกร้อง รัฐสวัสดิการ สังคมใหม่ซึ่งสะท้อนความเสมอภาค และเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง อันมีองค์ประกอบดังนี้



1.รัฐสวัสดิการคือสังคมที่ให้หลักประกันในทุกด้าน ตั้งแต่เกิดจนตาย นับแต่การตั้งครรภ์ การเรียนหนังสือที่ฟรีและมีคุณภาพ สวัสดิการด้านที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสม งานที่มีความหมายต่อสังคม ค่าตอบแทนที่เหมาะสมต่อการดำรงชีพและมีเกียรติในสังคม

2.รัฐสวัสดิการจะนำสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตย เป็นการเพิ่มอำนาจให้กับประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ตัวอักษรตามรัฐธรรมนูญ

3.งบประมาณรัฐสวัสดิการต้องมาจากการเก็บ ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีเงินได้ในอัตราก้าวหน้า

4.ดังนั้นรัฐสวัสดิการจึงไม่ได้มาจากการร้องขอ...หรือความใจดีของชนชั้นปกครอง หากแต่ต้องมาจากการต่อสู้ ซึ่งเราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของเรา เพื่อชูประเด็นรัฐสวัสดิการอย่างแท้จริง




กลุ่มประกายไฟ

prakaifire@gmail.com

http://blogazine.prachatai.com/user/iskra

รวมถึงมีการแจกแถลงการณ์ของสหภาพแรงงาน เจนเนอรัลมอเตอร์ส จากการถูกละเมิดสิทธิแรงงาน(คลิกเพื่ออ่านแถลงการณ์) ทั้งนี้ผู้ชุมนุมต้องรอจนถึงเวลา 13.30 น.เจ้าหน้าที่จึงได้เชิญตัวแทนผู้ชุมนุมเขาไปพูดคุยด้านใน

โดยระหว่างนั้น เวลาประมาณ 14.00 น. กลุ่มสมัชชาเกษตรกรรายย่อย (สกย.) ประมาณ 1,000 คน ที่ชุมนุมอยู่หน้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เคลื่อนขบวนมายังทำเนียบรัฐบาลบริเวณสะพานอรทัยด้วยเช่นกัน มีการฝ่าด่านตำรวจมาปักหลักชุมนุม จนประชิดรั้วทำเนียบรัฐบาล บริเวณประตู 1 และปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลเรียกร้องเร่งแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร พร้อมให้รัฐบาลนำรถสุขาและน้ำดื่มมาบริการ โดยขู่ว่าหากไม่นำรถสุขามาให้ ผู้ชุมนุมจะปัสสาวะริมรั้วทำเนียบฯ เมื่อเวลาผ่านไปเกือบ 1 ชั่วโมง ยังไม่มีรถสุขามา กลุ่มผู้ชุมนุมบางคนทั้งผู้หญิงและผู้ชายทยอยกันมายืนปัสสาวะใส่รั้ว ทำเนียบฯ เพื่อประชดที่ไม่ทำตามข้อเรียกร้อง

เวลา 14.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมส่งตัวแทน 10 คน เจรจาแก้ปัญหากับนายสุธรรม ลิ้มเกษมสุวรรณ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นาน 1 ชั่วโมง จากนั้น นายรณชิต ทุ่มโมง ประธานกรรมการฝ่ายประสานงาน สกย. กล่าวว่าการมาชุมนุมครั้งนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากทางกลุ่มได้ยื่นข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการดูแลเกษตร แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยนายกฯ อ้างว่าต้องหารือกับ พล.ต.สนั่น ขจรประสาศน์ รองนายกรัฐมนตรี ก่อน ดัง นั้นในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ สกย.จะรอฟังผลการประชุมกรรมการผู้บริหารธนาคารเพื่อการเกษตร (ธกส.) เรื่องการขอตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย 50% ให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ถ้าไม่ได้รับตามคำที่เกษตรขอร้องทางกลุ่มก็จะไปรวมตัวกับกลุ่มหนี้สินชาวนา ที่ชุมนุมอยู่ที่สะพานพระราม 6 ใกล้กระทรวงการคลังต่อไป

เวลาประมาณ 15.00 น. ตัวแทนผู้ชุมนุมจากสหภาพแรงงานภาคตะวันออกและอื่นๆ ที่เข้าไปด้านในจึงได้ออกมาและชี้แจงโดย บุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ว่าข้อเรียกร้อง จากกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก เพื่อแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานนั้น ตัวแทนภาครัฐ รับปากว่าจะเสนอต่อนายก ส่วนของ RPC นั้นทางกระทรวงแรงงานรับปากจะไปแก้ และปัญหาของ สหภาพแรงงานแคนาดอล จะมีการพูดคุยกันวันที่ 26 ที่จะถึงนี้เช่นกัน

ทั้งนี้บุญยืนยังกล่าวต่อไปอีกว่า เราจะคอยติดตาม หากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะกลับมาที่นี่อีกมากกว่านี้ จะรวมกันกับคนงานทั่วไปมาให้มากกว่านี้


หลังจากนั้นก็ได้สลายการชุมนุม โดยมี สหภาพแรงงานแคนาดอล ปักหลักชุมนุมต่อไปบริเวณ ทั้งนี้ เวลา 16.30 น. กลุ่มประกายไฟได้ร่วมกับ กลุ่มประสานงานกรรมกร กลุ่มลูกจ้างที่เป็นแรงงานจ้างเหมาทำงานในบริษัท รอยัล ปอร์ชเลน จำกัด (มหาชน) หรือ RPC และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ประมาณ 60 กว่าคนได้ไปชุมนุมต่อบริเวณแยกวิทยุ และได้เคลื่อนไป บริเวณหน้าอาคารอับดุลราฮิม ถนนพระราม 4 ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงาน สำนักงานกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข,) ถนนพระรามสี่ ซึ่ง กบข. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในบริษัท รอยัล ปอร์ชเลน จำกัด (มหาชน) หรือ RPC โรงงานตั้งอยู่ ณ ตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งพนักงานเหล่านี้ไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกเอารัดเอาเปรียบในการจ้างงานโดยลูกจ้างกลุ่มดังกล่าวระบุรายละเอียดดังนี้

1. ลาป่วยถูกหักค่าจ้างหรือไม่จ่ายค่าจ้างในการลาป่วยไม่ว่ากรณีใดๆและไม่เคยได้รับเงินชดเชย
2. ไม่เคยได้รับสิทธิในการลาพักผ่อนประจำปีและไม่เคยได้รับเงินชดเชยในกรณีนี้
3. ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้างและมีความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินชดเชย
4. นายจ้างให้หยุดงานโดยอ้างภาวะเศรษฐกิจโดยไม่จ่ายค่าจ้างตามมาตรา 75 แห่ง พรบ.คุ้มครองแรงงาน
5. ถูกลิดรอนสิทธิด้านอายุงานและค่าจ้างหรือเงินชดเชย ซึ่งนายจ้างพยายามโอนถ่ายหรือโอนย้ายลูกจ้าง โดยให้ลูกจ้างลาออกหรือต้องทำสัญญาจ้างใหม่ในอัตราค่าจ้างที่ลดลงและไม่นับอายุงานต่อเนื่อง
6. คนงานหญิงตั้งครรภ์ ถูกบังคับให้ทำงานจนถึงวันคลอด และจ่ายเงินสำหรับการลาคลอดเพียง 1 เดือน
7. มีการปล่อยเงินกู้ให้กับลูกจ้างในอัตราที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด

ทั้งนี้กลุ่มลูกจ้างที่เป็นแรงงานจ้างเหมาทำงานในบริษัท รอยัล ปอร์ชเลน จำกัด (มหาชน) หรือ RPC ซึ่ง กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข,) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่นั้นได้ปักหลักชุมนุมบริเวณฟุตบาทหน้าอาคารอับดุลราฮิม ถนนพระราม 4 ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงาน สำนักงานกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข,) ประมาณ 50 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีคนท้องแก่ใกล้คลอด โดยเธอจะขอคลอดลูกบริเวณนี้ เพราะไม่มีเงินกลับไปสระบุรีแล้ว จะขอชุมนุมหน้าสำนักงานกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) พร้อมกับเพื่อนๆ ไปจนกว่าจะมีใครมารับผิดชอบความไม่เป็นธรรมและถูกเอารัดเอาเปรียบในการจ้างงานของบริษัทรอยัล ปอร์ชเลน จำกัด (มหาชน) หรือ RPC ซึ่ง กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยระหว่างการชุมนุมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของอาคารได้นำเอกสารเชิญ กรรมการผู้จัดการบริษัท รอยัล ปอร์ชเลน จำกัด(มหาชน)และหุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.เลิศทรัพย์ พบพนักงานตรวจแรงงาน ของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระบุรีมาแจกให้กับผู้ชุมนุม


โดยล่าสุดเมื่อคืนที่ผ่านมา แรงงานบริษัทดังกล่าวได้นอนบริเวณบาทวิถีหน้าสำนักงานดังกล่าว และในวันนี้ผู้ชุมนุมได้เตรียมตั้งเต็นท์เพื่อปักหลักชุมนุมต่อไป (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง [1] [2])