ประกายไฟย้ายบ้านไปที่ http://iskragroup.blogspot.com

วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ประกายไฟเสวนา(ภาค Prakaifire in the Move) ตอน สหภาพแรงงาน...ทำไมต้องชนชั้น?


วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม 2552 นี้
ประกายไฟจะประทุเมื่อ เกิดคำถาม

แรงงานวิกฤติ อภิสิทธิ์อยู่ไหน?

ชนชั้นคืออะไร?สหภาพแรงงานคืออะไร? ทำไมต้องทำลาย?


ลงจริง เจ็บจริง สถานที่จริง ไม่ใช้ตัวแสดงแทน!! ไปกับ


ประกายไฟเสวนา(ภาค Prakaifire in the Move)
ตอน สหภาพแรงงาน...ทำไมต้องชนชั้น?
13.00 - 17.00 น. @ หน้าโรงงานไทรอัมพ์ สถานที่ชุมนุมของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ
นิคมอุตสาหกรรมบางพลี ซอย 7 สมุทรปราการ
วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม 2552

12:00 เดินทางจาก BTS อ่อนนุช
13:00 ถึงที่ชุมนุมหน้าโรงงาน ไทรอัมพ์ฯ
13:30 ประกายไฟเสวนา ตอน สหภาพแรงงาน...ทำไมต้องชนชั้น?
นำเสวนาโดย
ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์
คุณ ประกีรติ สัตสุด นักศึกษาปริญาเอก Cultural Anthropology,University of Wisconsin Madison
คุณ ปาลิดา ประการะโพธิ์ กลุ่มประกายไฟ
ดำเนินรายการโดย เทวฤทธิ์ มณีฉาย กลุ่มประกายไฟ

15.00 การแสดงดนตรีเพื่อการปลดปล่อย

15.30 ลงกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษาปัญหา ในประเด็น สหภาพแรงงาน ชนชั้นกรรมาชีพ และอื่นๆกับพี่น้องสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ

17:00 (เผ่น)ออกเดินทางกลับสู่รถไฟฟ้าอ่อนนุช

สอบถามรายละเอียดได้ที่ เบอร์ 086-0473439 (โบว์ ประกายไฟ)หรือ 089-2583641 (บัส ประกายไฟ)

วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

News & Movements of Triumph International (Thailand) Labour Union



เกาะติดข่าวสารและความเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อิเตอร์เนชันแนลแห่งประเทศไทยได้ที่
http://triumph-union.blogspot.com/

เลิกจ้างไทรอัมพ์ 1,959 คน “แรงงานไม่ Sensitive... ไม่เข้าใจความเป็นนายจ้างจริงหรือ?”




เทวฤทธิ์ มณีฉาย
กลุ่มประกายไฟ



ความเดิมเมื่อปีที่แล้วที่คนงานบริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กว่า 3,000 คน (ซึ่งทำการผลิตและจำหน่ายชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำให้แก่บรรษัทข้ามชาติจากประเทศเยอรมนี ยี่ห้อไทรอัมพ์ (Triumph), วาเลนเซีย (Valinsere), สล็อกกี้ (Sloggi), อาโม (AMO) และออม (HOM) เป็นต้น) ออกมาเคลื่อนไหวปกป้องสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล แห่งประเทศไทยของตนเอง ด้วยการเรียกร้องให้รับประธานสหภาพแรงงานของตนเองกลับเข้าทำงาน เนื่องจากถูกนายจ้างฉวยโอกาสเอากระแสทางการเมืองมาเป็นเหตุในการเลิกจ้าง พร้อมทั้งเรียกร้องให้เอาผู้บริหารที่ไม่มีแรงงานสัมพันธ์ที่ดีและมีพฤติกรรมที่ต้องการทำลายสหภาพแรงงานออกไป [1] โดยมองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำลายสหภาพแรงงาน การเคลื่อนไหวครั้งนั้นเป็นการผละงานออกมาชุมนุมหน้าโรงงานและเคลื่อนไหวถึง 46 วัน คือ ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม ถึง 12 กันยายน 2551

มาถึงวันนี้ และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏอีกครั้ง ซึ่งเป็นบทพิสูจน์การดำรงอยู่ของกระบวนการทำลายสหภาพแรงงานดังกล่าว จากการที่นายจ้างได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานของบริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 1,959 คน ซึ่งเป็นบริษัทในเครือไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2552 ที่ศูนย์ประชุม BITEC บางนา

จากจดหมายบอกเลิกจ้าง (TH-Int-005a v.3) ที่ส่งให้พนักงานแต่ละคนเปิดลุ้นดูในวันดังกล่าวนั้น ทำให้เห็นเหตุผลของการเลิกจ้างคนงานจำนวนมากครั้งนี้ว่า “ต้องการปรับปรุงโครงสร้างกิจการและลดกำลังการเย็บที่โรงงานบางพลีประมาณ 50 % ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างกิจการทั่วโลก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก ตลอดจนความต้องการโดยรวมของผู้บริโภคและคำสั่งซื้อสินค้าที่ลดลง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ไทรอัมพ์จะต้องดำเนินการเพื่อให้ธุรกิจสามารถยืนหยัดได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่รุนแรงนี้” นี่เป็นเหตุผลของการเลิกจ้างแรงงานไทรอัมพ์ครั้งใหญ่ทั้งที่บางพลีและฟิลิปปินส์ซึ่งเป็น 2 ประเทศที่มีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งในภูมิภาค มีแรงงานราคาถูก

หลังการเลิกจ้างดังกล่าวนางอัมพร นิติสิริ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (โปรดฟังอีกครั้งว่า “คุ้มครองแรงงาน”) ก็ออกมากล่าวว่า “นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกจ้างลูกจ้างเพื่อพัฒนาองค์กร หรือรักษาสภาพการจ้างของบริษัทไว้” [2] ขณะที่ในวันต่อมา (30 มิ.ย.52) นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทยได้ออกมาพูดถึงการเลิกจ้างแม้จะไม่เกี่ยวกับกรณีไทรอัมพ์โดยตรง แต่ก็มีประเด็นที่น่าสนใจคือทางรองประธานกรรมการหอการค้าได้กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ประกอบการไทยว่า “ทางหอการค้าไทยมีความเป็นห่วงปัญหาการปลดคนงานในขณะนี้ซึ่งจะส่งผลต่ออนาคตหากภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น การฝึกแรงงานใหม่เป็นเรื่องยากและใช้เวลา ดังนั้นรัฐบาล จึงต้องให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวมากขึ้น เพื่อไม่ให้มีการปลดคนงานหรือหากจำเป็น ก็ควรจะปลดให้น้อยที่สุด โดยขณะนี้คำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเริ่มกลับมามากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง” [3]

แม้คำกล่าวของทั้ง 2 ท่านจะมองแรงงานเป็นแค่เพียงกำลังแรงงานในองค์กรหรือระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมองข้ามความเป็นมนุษย์เหมือนกันก็ตาม แต่คำกล่าวของฝ่ายหลังดูจะมีท่าทีห่วงใยลูกจ้างหรือ “คุ้มครองแรงงาน” และเล็งเห็นถึงปัญหาภาพรวมของสังคมมากกว่าฝ่ายแรกที่มีจุดยืน “คุ้มครองนายจ้างมากกว่า” และมองเฉพาะจุดของปัญหาซึ่งไม่น่าจะเป็นความเห็นของกรมที่มีหน้าที่ดูแลแรงงานในภาพรวมของประเทศ

ดังนั้นกรณีการเลิกจ้างนี้จึงมีจุดสังเกตที่น่าสนใจ คือ แสดงถึงความไม่มั่นคงในชีวิตของชนชั้นแรงงาน ซึ่งทำให้แรงงานต้องออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสหภาพแรงงานและความมั่นคงในชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับคำกล่าวที่ท่านนายกอภิสิทธิ์ ที่ว่า เกิดจากความไม่เข้าใจกัน อาจจะเรียกในทำนองว่าแรงงานไม่ Sensitive... ไม่เข้าใจความเดือดร้อนของนายจ้าง (อย่างเพลงดาวมหาลัย) ดังนั้นผู้เขียนจึงขอยกกรณีศึกษาไทรอัมพ์เพื่อแสดงถึงความไม่มั่นคงในชีวิตของแรงงาน แม้คุณจะอยู่ในบริษัทที่คิดว่ามั่นคง เพื่อพิสูจน์ว่านายจ้างหรือนายทุนมองวิกฤติเป็นโอกาสเสมอ ภายใต้สโลแกน “ต้นทุนต่ำสุด กำไรสูงสุด” ดังนั้น



ไม่มีสัจจะภายใต้ สโลแกน “ต้นทุนต่ำสุด กำไรสูงสุด”

เมื่อประมาณ 3 เดือนที่แล้วที่ไทรอัมพ์จัดงาน “Triumph Swimwear 2009 Collection “Rhythm of The City” [4] โดยมี เก๋ ชลลดา – ทาทา ยัง ประชันความเซ็กซี่ในชุดว่ายน้ำครั้งแรก และในงานดังกล่าวมีการเปิดประมูลชุดว่ายน้ำประดับคริสตัลสุดหรู ยอดพุ่งถึง 100,000 บาท โดย จักร เฉลิมชัย ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายการตลาดและขาย บริษัท ไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า “เพื่อเป็นการตอกย้ำว่า ไทรอัมพ์เป็นแบรนด์ชุดว่ายน้ำอันดับหนึ่งของไทย..” และในงานดังกล่าวยังเป็นการเปิดตัวคอลเลคชั่นชุดว่ายน้ำจำนวนมาก ในขณะที่การเลิกจ้าง 1,959 คนในครั้งนี้ ส่วนที่ถูกเลิกจ้าง 100 % เป็นส่วนที่ผลิตชุดว่ายน้ำและในส่วนนี้ก็เป็นส่วนที่มีสมาชิกสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งที่สุด [5] ตามที่ทางสหภาพยืนยัน

นอกจากนั้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา ทางบริษัทยังยืนยันอีกครั้งโดย จักร เฉลิมชัย กล่าวว่า “บริษัทแม่ในประเทศเยอรมนีมองปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้เป็นโอกาสในการขยายธุรกิจ เพราะบริษัทแม่มีเงินลงทุนสูง และคาดว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะ มีระยะเพียง 1-2 ปี ในขณะที่ การลงทุนของบริษัทเป็นการลงทุนระยะยาว 3-5 ปี ดังนั้น ในปีนี้วางแผนขยายสาขาทั้งหมด 25 สาขา ใช้เงินลงทุนประมาณ 45 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทมั่นใจว่าเมื่อปัญหาภายในเรื่องการหยุดงานของพนักงานจบลงแล้ว จะทำให้ยอดขายของบริษัทปีนี้จะกลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ 10% จากปกติที่บริษัทจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8-12% นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ ทุกๆ 3 เดือน ร่วมกับการจัดโปรโมชันลดราคา การจัดอีเวนต์ การจัดแฟชั่นโชว์ขนาดเล็ก ณ จุดขายต่างๆ ด้วยงบส่งเสริมตลาด 50 ล้านบาท จากงบรวมของบริษัท 70 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา” [6]

จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าบริษัทไม่ได้ประสบภาวะวิกฤตทางการเงินเพราะ “บริษัทแม่มีเงินลงทุนสูง” และจากเอกสารจดหมายเลิกจ้างที่กล่าวมาข้างต้นก็ไม่ได้กล่าวถึงการประสบภาวะทางการเงิน เพียงแต่อ้าง “ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก” ในขณะที่อีกทางหนึ่งบริษัทกลับมองว่า “ยอดขายของบริษัทปีนี้จะกลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ 10% จากปกติที่บริษัทจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8-12%” จึงเป็นการยืนยันและแสดงถึงความไร้ซึ่งชอบธรรมจากความไม่มีสัจจะภายใต้ สโลแกน “ต้นทุนต่ำสุด กำไรสูงสุด” เพราะนายทุนจะมองเห็นโอกาสในวิกฤติเสมอ ดังคำที่ทางบริษัทนี้กล่าวไว้จริงๆ ที่ว่า “บริษัทแม่ในประเทศเยอรมนีมองปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้เป็นโอกาส...”

รัฐเป็นกลางจริงหรือ

แม้ว่า ชนชั้นนายทุนทั่วโลกจะพยายามสร้างให้รู้สึกว่า รัฐในสังคมเสรีประชาธิปไตยมีความเป็นกลาง เป็นพียงผู้ดูแลกติกา ไม่สังกัดชนชั้นใด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกรณีไทรอัมพ์ฯ และกรณีอื่นๆ ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่ารัฐไม่มีความเป็นกลาง แม้กระทั้งเจ้ากรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงที่แรงงานเรียกร้องมายังมีท่าทีที่คุ้มครองนายจ้างมากกว่า

นอกจากนี้กรณีบริษัทไทรอัมพ์นั้นยังได้รับการสนับสนุนในการย้ายฐานการผลิตไปในที่ๆ มีแรงงานราคาถูกและไม่มีสหภาพแรงงานจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เมื่อปีที่ผ่านมา ด้วยการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่บริษัทบอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตามรายงานข่าวระบุว่า เป็นผู้ผลิตชุดชั้นใน ชุดว่ายน้ำ ที่มีกำลังผลิตเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย ภายใต้ แบรนด์ “ไทรอัมพ์” และเป็นผู้ผลิตใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียเพื่อขยายการลงทุนผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศไทยเพิ่มเติม เช่น ชุดชั้นใน ชุดว่ายน้ำ ผ้าพันคอ เป็นต้น โดยมีกำลังการผลิตปีละ 2,000,000 ชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 75.5 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ [7] ทำให้สามารถขยายกำลังการผลิตด้วยการซื้อที่ดินและสร้างโรงงานที่ได้มาตรฐานรองรับการผลิตได้เต็มที่ได้ถึง 2,000 คน ในปีที่ผ่านมา โดยในปัจจุปันก็มีคนงานถึง 1,000 กว่าคน [8]

ทั้งๆ ที่เมื่อพิจารณาจากนโยบายของ BOI แล้วจะพบว่าไม่มีนโยบายส่งเสริมธุรกิจดังกล่าว โดยนโยบายของ BOI [9] ประกอบด้วย

1. นโยบายส่งเสริม สนับสนุนอุตสาหกรรมการเกษตรไทย โดย BOI เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีพิเศษเพื่อส่งเสริม สนับสนุนและเสริมสร้างพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรไทยอย่างครบวงจร

2. นโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยใช้ STI เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ BOI ปรับนโยบายส่งสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Skill Technology & Innovation-STI) โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีแก่โครงการที่มีการพัฒนาด้าน STI

3. แนวทางการส่งเสริมกิจการซอฟต์แวร์ เพื่อปรับประเภทกิจการซอฟต์แวร์ใหม่โดยเน้นการให้การส่งเสริมเป็นกลุ่มธุรกิจ แทนที่จะเป็นลักษณะการทำงาน (Activity Group) เพื่อดึงดูดกลุ่มธุรกิจซอฟต์แวร์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาซอฟต์แวร์ของประเทศในอนาคต เพิ่มสิทธิประโยชน์และยกเลิกเงื่อนไขที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะธุรกิจ

4. สุดท้ายนโยบายส่งเสริม สนับสนุน SMEs ไทย โดย BOI ปรับบทบาทการส่งเสริมการลงทุนแก่ SMEs ไทย ตามยุทธศาสตร์การพัฒนา SMEs ของรัฐบาล เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีและลดเงื่อนไขให้เอื้อแก่กิจการเกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์

สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนที่ยืนยันถึงความไม่เป็นกลางของรัฐในเชิงพฤติกรรมผ่านตัวแสดงจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอำนาจและในเชิงโครงสร้างและนโยบาย ที่ส่งเสริมให้เกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังแหล่งแรงงานราคาถูก ไม่มีสหภาพแรงงาน (สวรรค์ของนักลงทุน) ขณะเดียวกันก็หยิบยื่นโอกาสในการเลิกจ้างแรงงานอายุมาก แรงงานที่ต่อสู้เพื่อได้รับสวัสดิการที่เพิ่มขึ้น ทำลายสหภาพแรงงาน ทั้งๆ ที่เงินสนับสนุนนั้นมาจากภาษีของประชาชนโดยที่นายทุนที่ได้รับการส่งเสริมก็มักจะได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี [10] ด้วยซ้ำไป ตามนโยบายสิทธิและประโยชน์ด้านภาษีอากรของ BOI

อีกทั้งการเลิกจ้างถึงเกือบ 2 พันคนกรณีไทรอัมพ์และที่อื่นๆ ที่ยังมีในขณะนี้ถือเป็นการพิสูจน์ความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าของรัฐบาลไทยที่นำโดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มักจะชูภาพของการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจรุ่นใหม่ พร้อมกับนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ของพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐบาลดังกล่าวยังแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ในส่วนของมาตรการเร่งด่วนระยะ 1 ปี ในเรื่องของการรักษาและเพิ่มรายได้ของประชาชน ได้เสนอให้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินมาตรการชะลอการเลิกจ้างและป้องกันการขยายตัวของการเลิกจ้างในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม โดยใช้มาตรการจูงใจเพื่อลดภาระของภาคเอกชนในการชะลอการเลิกจ้างงาน [11] แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นบทพิสูจน์หนึ่งที่สำคัญถึงความไร้น้ำยาและความไม่เป็นกลางอย่างถึงที่สุดของรัฐบาลชุดนี้ในรอบครึ่งปีที่มาบริหารประเทศ

มาตรฐานสากลเพียงเสือกระดาษหรือตรายาง

จากกรณีศึกษาไทรอัมพ์ฯ ซึ่งเป็นบรรษัทข้ามชาติจากประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นสมาชิก ขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1961 ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วรวม 30 ประเทศ องค์กรดังกล่าวมีหลักปฏิบัติที่เรียกว่า OECD Guidelines for MNEs เพื่อให้ธุรกิจข้ามชาติของประเทศสมาชิกใช้เป็นแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักของ OECD ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การจ้างงาน และยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประเทศสมาชิก ขณะเดียวกันก็มีนโยบายรักษาเสถียรภาพทางการเงินของโลก เพื่อให้เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก จึงมีการกำหนดพฤติกรรมอันพึงประสงค์ 8 ประการ ที่ธุรกิจข้ามชาติควรยึดถือเป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจ [12] ซึ่ง 2 ใน 8 ข้อนั้นคือ

การเปิดเผยข้อมูล (Disclosure): ธุรกิจควรเปิดเผยข้อมูลที่เชื่อถือได้อย่างสม่ำเสมอ อาทิ โครงสร้างองค์กร สถานะทางการเงิน ผลการดำเนินงาน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและสังคมบริเวณโดยรอบองค์กร

การจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ (Employment and Industrial Relations): ธุรกิจควรเคารพสิทธิของลูกจ้าง ปฏิบัติต่อลูกจ้างด้วยความเท่าเทียมกัน ให้ข้อมูลผลการดำเนินงานที่แท้จริงของธุรกิจแก่ลูกจ้างและผู้แทน รวมทั้งดูแลสุขภาพ และให้โอกาสแก่ลูกจ้างในการพัฒนาทักษะอย่างเหมาะสม เป็นต้น

นอกจากนี้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเยอรมนียังถูกควบคุมด้วยวิธีการร่วมมือกัน นั่นหมายความว่า ยุทธศาสตร์ของสถานประกอบการไม่ได้ถูกกำหนดโดยผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเพียงด้านเดียว แต่ว่าจากผลประโยชน์จำนวนหนึ่งของตัวแทนผลประโยชน์ทางภาคประชาสังคม สถานประกอบการจะถูกควบคุมโดยคณะกรรมการบริหาร ที่นอกจากตัวแทนจากธนาคารแล้ว ยังมีตัวแทนจากฝ่ายผู้ประกอบการ ผู้แทนจากฝ่ายลูกจ้างและตัวละครจากภาครัฐที่มีบทบาทรวมอยู่ด้วย [13] แต่การปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายระยะยาวของไทรอัมพ์ก็ได้รับการยืนยันจากสหภาพแรงงานแล้วว่าไม่มีการปรึกษาหารือด้วยวิธีการร่วมมือกันและการเปิดเผยข้อมูลใดๆ จากทางบริษัท

เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเสือกระดาษหรือตรายางของมาตรฐานสากลที่ไม่มีผลบังคับใช้จริง นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตที่ทางสหภาพตั้งไว้คือทำไมเป็นแผนการปรับโครงสร้างทั่วโลก ขณะที่ในไทยมีแต่ที่โรงงานในบางพลี ทำไมโรงงานไทรอัมพ์ที่นครสวรรค์กลับมีการเตรียมขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น โดยการสนับสนุนจาก BOI และทำไมต้องเป็นที่ฟิลิปปินส์กับไทยที่มีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง และคนที่ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่เป็นคนงานที่เข้าร่วมต่อสู้กรณี น.ส.จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานฯ ที่โดนเลิกจ้างไปครั้งที่แล้ว [14]

รวมถึงทำไมบอกเลิกจ้าง 50 % แต่จากหนังสือคัดค้านการเลิกจ้างกลับระบุให้เห็นว่า คนงานที่ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ เป็นอนุกรรมการและกรรมการสหภาพแรงงานฯ ถึง 13 คนจากกรรมการสหภาพแรงงานทั้งหมด 19 คน ในการเลิกจ้างครั้งนี้ ซึ่งเท่ากับส่วนของกรรมการสหภาพที่ถูกเลิกจ้างในสัดส่วนเกือบ 70 %

รวมถึงเมื่อพิจารณาจากแถลงการณ์ในการชุมนุมประท้วงและเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์เมื่อปีที่แล้วจะพบข้อน่าสนใจเกี่ยวกับช่วงยื่นข้อเรียกร้องขอปรับสภาพการจ้างของทางสหภาพก่อนที่จะมีการชุมนุมคัดค้านการเลิกจ้างประธานสหภาพ คือ “ช่วงระหว่างการยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพฯ เพื่อขอปรับสภาพการจ้างครั้งที่ผ่านมา ทางฝ่ายผู้บริหารฯ ได้เสนอให้ปรับค่าจ้างตามความต้องการของบริษัทฯ และให้พนักงานรวมทั้งผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพฯ ลงมติรับข้อเสนอของทางบริษัทฯ เพื่อทำให้ข้อเรียกร้องของทางสหภาพฯ ตกไป โดยมีการขู่ว่าหากไม่รับข้อเสนอตามที่ทางบริษัทฯ เสนอ ทางบริษัทแม่ที่เยอรมนีอาจจะปิดบริษัทที่เมืองไทยแล้วจ้างทำการผลิตแบบเหมาช่วง (Sub-contract) แทน แต่ทางสหภาพฯ ไม่ยินยอมให้กระทำการดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าเป็นกลวิธีของผู้บริหารที่พยายามจะลดบทบาทและความสำคัญของสหภาพแรงงาน ด้วยการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในอนาคตว่าต่อไปบริษัทจะเป็นผู้เสนอการปรับสภาพการจ้างงานเองแล้วให้พนักงานลงมติรับรอง แทนที่ข้อเรียกร้องนั้นจะมาจากความต้องการของพนักงานอย่างแท้จริง” แสดงให้เห็นว่าทางบริษัทมีแผนที่จะเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงาน พร้อมทั้งลดทอนบทบาทและอำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงานมาก่อนหน้านี้แล้วด้วยซ้ำไป

ดังนั้นหากบริษัทมีความจำเป็นในการปรับโครงสร้างจริงก็ควรปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงาน พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลให้กับพนักงาน เพื่อการปรับปรุงองค์กรให้มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างประสิทธิผลตามที่บริษัทกล่าวอ้างโดยวิธีการที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่ทำลายสหภาพแรงงานด้วยการเลิกจ้างคนงาน 1,959 คน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้บริษัทก็ไม่ได้มีมาตราการอื่นที่จะสร้างประสิทธิภาพด้วยการปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายอย่างชัดเจนแต่อย่างใด [15] ตัวอย่างของการปรับปรุงโครงสร้างที่สร้างสรรค์ เช่น โครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดของรัฐบาลไทยที่เคยทำมาเพื่อปฏิรูประบบราชาการ โดยปรับขนาดกำลังคนให้เหมาะสมสอดคล้องกับการพัฒนาระบบราชการ ภายใต้หลักความสมัครใจและความประสงค์ร่วมกันของข้าราชการและราชการ โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมของข้าราชการและประโยชน์ของทางราชการ

นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำกันในประเทศกำลังพัฒนา แต่หากทางฝ่ายนายจ้างที่ได้รับการส่งเสริมโดยรัฐไม่ยอมเลือกทางแก้ปัญหาในรูปแบบที่สร้างสรรค์ ก็คงหนีไม่พ้นเจตนาตามที่สหภาพกังวลว่าจะเป็นการล้มสหภาพแรงงาน พร้อมทั้งย้ายฐานการผลิตไปยังแหล่งที่มีแรงงานราคาถูกและเปลี่ยนรูปแบบการผลิตแบบเหมาช่วง (Sub-contract) แทน เป็นแน่

สรุป



จากกรณีการเลิกจ้างของไทรอัมพ์นี้แสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นคงในชีวิตของแรงงานทุกๆ คนในระบบทุนนิยมเสรี แม้คุณจะอยู่ในบริษัทที่มั่นคงใหญ่โตแค่ไหน เพราะความมั่นคงของต้นทุนต่ำสุด กำไรสูงสุดของนายทุนนั้นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด



ผมเคยมีโอกาสคุยกับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างดังกล่าวหลายคนก็ไม่เคยคิดว่าจะถูกเลิกจ้าง (จึงมีแนวโน้มซื้อของเงินผ่อนและเป็นหนี้ มีเครดิตว่างั้น) นอกจากนี้กรณีของไทรอัมพ์ยังเสดงให้เห็นว่า รัฐในความเป็นจริงแล้วไม่มีความเป็นกลาง มาตรฐานสากลอันสวยหรูเป็นเพียงเสือกระดาษหรือตรายางเท่านั้น ไม่มีสัจจะและความสร้างสรรค์ที่แท้จริงภายใต้ สโลแกน “ต้นทุนต่ำสุด กำไรสูงสุด” นายทุนมักมองวิกฤติเป็นโอกาสในการเพิ่มอัตราการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินเสมอ ดังนั้นการเคลื่อนไหวของแรงงานจึงไม่ใช้เพราะ “แรงงานไม่ Sensitive...ไม่เข้าใจความเป็นนายจ้าง” แต่เป็นเพราะเขา Sensitive และเข้าใจความเป็นนายจ้าง สังคมไทยต่างหากที่ไม่ Sensitive และไม่เข้าใจความเป็นแรงงาน กลับถูกรัฐใช้กระแสหมีแพนด้ากลบเกลื่อนความผิดพลาดของรัฐบาล โดยเฉพาะปัญหาทางเศรษฐกิจทั้งระบบที่กระทบกับคนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจำนวนมากขณะนี้เท่านั้น

เอกสารอ้างอิง
[1] สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ . 2551. แถลงการณ์กรณีการชุมนุมต่อต้านการล้มสหภาพไทรอัมพ์
[2] กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ . ไทรอัมพ์ปลดพนง. 1.9 พันคน ชดเชยตามกม. วันที่ 29 มิถุนายน 2552
[3] กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. หอการค้าวอนรัฐดูแลสภาพคล่องชี้อออเดอร์หาย20% วันที่ 30 มิถุนายน 2552 http://www.bangkokbiznews.com
[4] ไทยพีอาร์ ดอทเน็ต . เก๋ ชลลดา – ทาทา ยัง ประชันความเซ็กซี่ในชุดว่ายน้ำครั้งแรก!! เปิดประมูลชุดว่ายน้ำประดับคริสตัลสุดหรู วันที่ 11 มีนาคม 2552 ที่มา http://www.thaipr.net/nc/readnews.aspx?newsid=2A66B2A83413D38DDF2381A68F069390&query=IlRyaXVtcGggU3dpbXdlYXIgMjAwOSI=
[5] ประชาไท. 2552. ไทรอัมพ์เลิกจ้าง พนง. 1,930 คน คนงานจี้ชี้แจงขาดทุนจริงหรือไม่ 2009-06-29 ที่มา http://www.prachatai.com/journal/2009/06/24894
[6] โพสต์ทูเดย์ . ไทรอัมพ์เร่งผุดสาขากลางเมือง วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2552 ที่มาhttp://www.posttoday.com/business.php?id=38726
[7] หนังสือพิมพ์แนวหน้า. บอร์ดบีโอไออนุมัติ ไทรอัมพ์ทุ่ม75ล้าน ขยายฐานการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป
ฉบับวัน อังคารที่ 8 กรกฎาคม 2008
[8] สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ . 2552. หนังสือคัดค้านการเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ และคนงานบริษัทบอดี้แฟชั่น(ประเทศไทย)จำกัด. 3 กรกฎาคม 2552
[9] คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน. นโยบายของบีโอไอ ที่มา http://www.boi.go.th/thai/about/boi_policies.asp
[10] คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน. สิทธิและประโยชน์ด้านภาษีอากร ที่มา http://www.boi.go.th/thai/about/basic_incentive.asp
[11] มติชนออนไลน์. นโยบายรัฐบาล"อภิสิทธิ์ " ว่าด้วยมาตรการเร่งด่วน 1 ปี. วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ที่มา http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1230614749
[12] Connection Co.,Ltd. OECD Guidelines for Multinational Enterprises ที่มา http://www.connections.co.th/marketing/page_bx.php?cno=86&cid=18
[13] โทมัส ไมเออร์. อนาคตสังคมประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ :มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท, หน้า 320-321
[14] กรมประชาสัมพันธ์ . คนงานไทรอัมพ์ไม่เชื่อเลิกจ้าง1.9พันคนเพราะขาดทุน http://www.atnnonline.com/atnnonline/index.php/economics/709-19.html
[15] อ้างแล้ว, สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ . 2552

ที่มา ประชาไท