ประกายไฟย้ายบ้านไปที่ http://iskragroup.blogspot.com

วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สัมภาษณ์: ปาลิดา ประการะโพธิ์ “โปรดอย่าพูดแบบเหมารวม เด็กมัธยมก็สนใจปัญหาสังคม”

คลื่นลูกใหม่ๆ ย่อมมาแทนที่คลื่นลูกเก่าเสมอ ในห้วงเวลาที่นักกิจกรรม-เอ็นจีโอรุ่นเก่าแก่ เริ่มหาที่ทางในช่วงบั้นปลาย ไม่ว่าจะเป็นการออกไปสิงตามพรรคการเมือง ออกไปเป็นที่ปรึกษาตามหน่วยงานองค์กรต่างๆ หรือเริ่มแคะกระปุกเงินเก็บออมไปกว้านซื้อหากระท่อมเล็กกระท่อมน้อยตามชนบทบรรยากาศเขียวๆ สร้างสวรรค์ในช่วงท้ายของชีวิต ส่วนรุ่นกลางๆ มาหน่อยก็กำลังเพลิดเพลินกับหน้าที่บริหารองค์กร เขียนโครงการขอทุน การออกแถลงการณ์ ตั้งโต๊ะแถลงข่าว และบินไปประชุมตามที่ต่างๆ

วันนี้ประชาไทขอนำเสนอบทสัมภาษณ์ นักกิจกรรมรุ่นใหม่ เพื่อเป็นการหวนรำลึกไปถึงวันที่คนหนุ่มสาวเริ่มออกแสวงหาเส้นทางเพื่อการค้นพบคุณค่าของตัวเอง กลับไปในช่วงสมัยที่เริ่มหัดออกค่าย แบกเป้ โบกรถ ตามหาความฝัน
“ปาลิดา ประการะโพธิ์” เด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เด็กมัธยมที่กล้าประกาศกับผู้ใหญ่หรือนักกิจกรรมรุ่นเก๋าๆ ทั้งหลายว่า “โปรดอย่าพูดแบบเหมารวม เด็กมัธยมก็สนใจปัญหาสังคม”




“ปาลิดา ประการะโพธิ์”
ขณะทำกิจกรรมครบรอบ 21 ปีเหตุการณ์ 8888 เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 52 ที่ผ่านมา(ด้านหลังเป็นจิตรา คชเดช ปิดปากคาดหัวเราก็แอบรู้เพราะเราอยู่ในเหตุการณ์)



เริ่มต้นจากการอ่าน

ปาลิดา เกิดมาในครอบครัวที่เธอเรียกว่าเป็น “ครอบครัวธรรมดาๆ” ซึ่งหัดให้เธอเริ่มรู้จักรับผิดชอบต่อตนเองต้องแต่ช่วงประถม และในบางครั้งอาจจะมีอารมณ์ เศร้า เหงารัก ตามประสาเด็กทั่วไป แต่สิ่งที่เธอใช้บำบัดอารมณ์ในวัยเยาว์ของเธอนั่นก็คือ ‘การอ่าน’
“เกิดในครอบครัวธรรมดา เป็นลูกสาวคนเดียว พ่อแม่สอนให้รับผิดชอบตัวเองตั้งแต่เด็กๆ เพราะไม่ค่อยมีเวลาอยู่ด้วยกัน ประมาณประถมต้นก็หัดรีดผ้าเองแล้ว พอโตหน่อยประถมปลายก็พ่อแม่ก็ส่งเข้าโรงเรียนประจำ ทำให้ยิ่งต้องช่วยเหลือตัวเองให้เป็นเข้าไปกันใหญ่ พอห่างจากพ่อแม่ก็มีเหงาบ้างอะไรบ้าง เลยต้องหาสิ่งจรรโลงใจหน่อย คือ หนังสือ เป็นคนชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็กๆ”

“ไม่ว่าจะหนังสืออะไรได้หมด ตั้งแต่การ์ตูนยันสารคดีหนักๆ แต่อย่างหลังนี่ตอนเด็กๆ อ่านเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างก็พยายามอ่าน สนุกดี อ่านหนังสือมาเรื่อยจนกระทั่ง ป.4 เริ่มอ่านหนังสือที่ไม่มีภาพ เน้นหนาๆ อย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ นี่อ่านสี่เล่มรวดเลย แล้วก็นวนิยายแบบคลาสสิคสุดๆอย่าง สี่แผ่นอิน หรือรัตนโกสินทร์ ฯลฯ ช่วงนั้นบ้ามากเอาไปอ่านในเวลาเรียนจนครูว่าแต่ก็ไม่สนใจเท่าไหร่”

“ดำเนินชีวิตมาเรื่อยๆ แบบเด็กปกติทั่วไป ไม่รับไม่รู้อะไรกับโลกภายนอกเขาเท่าไหร่ เขาบอกให้เรียนเราก็เรียน เขาบอกให้สอบเราก็สอบไป บ้าเรียนกวดวิชา บ้าทีวี กลับมาบ้านนี่ต้องเปิดทีวีก่อนเลย จนกระมาถึงประมาณ ม.4 เริ่มเห็นความจริงของโลกจากการอ่านหนังสือหลายๆ เล่มแล้วเราเริ่มคิดตามว่าทำไมสิ่งนั้นถึงเป็นแบบนี้ สิ่งนี้ถึงเป็นแบบนั้น สงสัยมาก พอดีได้คุยกับรุ่นพี่คนหนึ่งตอนนั้นเขาย้ายไปเรียนอยู่โรงเรียนเตรียมฯ เมื่อก่อนสนิทกันมากเพราะเคยอยู่ประจำหอเดียวกัน พี่คนนี้เขาสนใจการเมือง สนใจความเคลื่อนไหวรอบโลก แล้วก็มาแนะนำว่าลองอ่านอันนี้สิ ลองไปดูอันนั้นสิ ซึ่งก็จำไม่ได้ว่าพี่เขาแนะนำว่าอย่างไร แต่มันเป็นจุดหักเหของการเปลี่ยนมุมมองในการมองโลก ก่อนหน้านี้ชีวิตมีแต่บ้านกับโรงเรียน สองอย่างนี้กลืนกินชีวิตกว่า 80% หลังจากนั้นเราก็เริ่มหันกลับไปมองว่าเอ… ไอ้ที่เราทำไปเมื่อก่อนนั่นเราทำอะไร เราทำเพื่อใคร แล้วตอนนี้เรากำลังทำอะไรอยู่”

หนังสือเล่มหนาอย่าง ‘ปุลากง’ ซึ่งเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของพ่อเธอในสมัยที่ยังเรียนอยู่ กลายเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญเมื่อครั้งที่หยิบมาอ่าน และมันก็เป็นประตูให้เธอเริ่มก้าวเข้ามาเป็นนักกิจกรรมวัยเยาว์

“การอ่านนี่มันทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปได้จริงๆ นะ ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า ‘ปุลากง’ เป็นหนังสือเก่ามากแล้ว หนังสือนี้ใช้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของพ่อสมัยตอนเรียนหนังสือ เรื่องราวในนั้นมันจะเล่าเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนใต้ เราเห็นว่ามันแปลกดี บางเรื่องไม่เคยรู้มาก่อน เลยตามอ่านหนังสือเกี่ยวกับมุสลิมทั้งหมด ไม่ว่าจะในตะวันออกกลาง วัฒนธรรมของชาวมุสลิม ข้อบังคับทางศาสนา รู้สึกว่าอารยธรรมของชาวมุสลิมนี่มีเสน่ห์ดึงดูดชวนให้น่าติดตามดี เลยความบ้าขึ้นมาอยากจะไปเรียนภาษาอาหรับ พออยากแล้วก็ไปหาที่เรียนเลย ไกลแค่ไหนก็จะไปให้ได้”

“ตอนนั้นได้ที่เรียนที่ WAMY ( World Assembly of Muslim Youth) อยู่แถวๆ อ่อนนุช ไกลมากเลยนะจากหลักสี่เนี่ย แต่ก็ได้ไปเรียนจนได้ เรียนได้ไม่นานก็ต้องหยุด เพราะสู้ค่าเดินทางไม่ไหว พอเราได้เรียนอาหรับเรารู้สึกว่าเอ...ทำมีความสุขจัง เลยเกิดความกระเหี้ยนกระหือรืออยากจะไปเจอของจริง พอดีรู้จักพี่คนหนึ่งเขาทำค่ายเกี่ยวกับเรียนรู้วิถีชาวบ้านที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ก็เลยตกลงไปกับเค้าด้วย พี่เขาเป็นกังวลใหญ่เลยว่ามีเด็กนี่ตามไปด้วยจะเป็นไรไหม เพราะมันเป็นค่ายของนักศึกษา ถ้าน้องเขาไปแล้วเกิดอันตรายขึ้นมาจะทำยังไง พี่เขาถามแล้วถามอีกว่าจะไปแน่เหรอ เราก็บอกว่าแน่ เพราะอยากไปมานานแล้ว”

“แต่ที่ตอบตกลงไปนี่ยังไม่ได้บอกพ่อกับแม่เลย กลัวเขาจะไม่ให้ไป แต่ก็ต้องตัดสินใจบอกเพราะกลัวเขาจะช็อค ถ้าวันหนึ่งลูกสาวหอบกระเป๋าออกไปข้างนอกสามวันเจ็ดวันโดยไม่บอกกล่าว บอกไปทีแรกหัวเด็กตีนขาดยังไงเขาก็ไม่ให้ไป เราก็ต่อต้านในใจ คิดว่าชีวิตกู กูลิขิตเองได้ จะไปซะอย่างใครจะทำไม พ่อแม่สอนให้เราจะทำอะไรก็คิดเอง ถามพ่อแม่พอเป็นธรรมเนียม ก็รู้ว่าเขาเป็นห่วงนะ แต่ทำไงได้ เรามันดื้อด้าน หลังๆ เขาก็เลยอยากไปไหนก็ไป ลงสามจังหวัดชายแดนนี่ถือเป็นกิจกรมแรกที่ได้ทำจริงๆ จัง ได้ไปลงพื้นที่เยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ไม่ดูวิถีชาวบ้านว่าเขาอยู่กันยังไง ไปไม่กี่วันนี่หลงเสน่ห์ชาวมลายูเข้าอย่างจัง รักมากพื้นที่นี้”

ประสบการณ์ชายแดนใต้

สิ่งที่ปาลิดาได้พบเห็นจากการลงพื้นที่ครั้งนั้น อาจจะเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่หลายคนไม่เคยสัมผัส และเธอได้รับประสบการณ์ชีวิตมากมาย
“พื้นที่สีเขียวนี่แพร่วงกว้างมาก ไปตอนแรกนี่ตกใจ หลังๆ เริ่มชิน พอขบวนรถนักศึกษาลงไปนี่ต้อนรับอย่างดีเลย พี่แก (ทหาร) เล่นบล็อกเราทุกด่าน ถนนสายหนึ่งนี่มีด่านมากกว่าสิบด่านได้มั้งไม่ให้ไปบ้าง จะจัดรถทหารไปนำขบวนให้บ้าง แต่เราก็ปฏิเสธนะ ถ้าเขาไปด้วยชาวบ้านหวาดระแวงแน่ๆ ทหารก็กลัวว่าขบวนการจะมาทำอะไรเรา แต่เรามั่นใจว่าเรามาถูกทางแล้ว”

“พอลงไปก็เห็นปัญหาหลายๆ อย่าง ปัญหาที่ครอบครัวส่วนใหญ่ประสบคือ ขาดผู้นำครอบครัว ขาดสามี ขาดที่พึ่ง เพราะเสียชีวิตไปกับเหตุการณ์ไม่สงบทั้งที่เกิดจากรัฐและผู้ก่อการร้าย บางครอบครัวได้รับคำสัญญาจากรัฐว่าจะให้เงินช่วยเหลือครอบครัวแต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ หรือพอเกิดเรื่องอะไรก็ให้ไปฟ้องศาลเอาเอง แล้วลองคิดดูสิ ชาวบ้านก็จนอยู่แล้ว จะเอาเงินที่ไหนไปวิ่งเต้นจ้างทนายมาว่าความ ไหนจะค่าเดินทาง ค่านู่นค่านี่ เต็มไปหมด”

“ในส่วนตัวมองว่าปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งที่น่าจะได้รับการแก้ไขจากรัฐคือปัญหาการไม่มีที่ทำกิน อย่างน่านน้ำทะเลปัตตานีเนี่ย พวกนายทุนเขาพากันไปจับจองกันหมด มีการปักปันเขตแดนด้วยนะ ชาวบ้านเลยหมดทางทำมาหาดิน ออกเรือไปไหนก็ไม่ได้ เพราะนายทุนเขาห้ามเขาเขตเขา นายทุนก็ฉลาดทำการฮั้วกับกำนันผู้ใหญ่บ้านเสร็จสรรพ หมดเลยที่ดินทำกิน แล้วยังมีการถมที่ตั้งโรงงานปลากระป๋องยื่นออกไปในทะเล ปล่อยน้ำเสียออกมาอีก ชาวบ้านเดือดร้อนเข้าไปอีกปัญหาของชาวบ้านมันไม่ได้รับการแก้ไข เพราะคนในระบบราชการ คนใหญ่คนโตมันไปทำเสียเอง ผลประโยชน์มันมหาศาลมันล่อตา คราวนี้ยังไงล่ะชาวบ้านจะเหลืออะไร ก็เจ๊งลูกเดียว”
ปาลิดาเห็นว่าปัจจัยที่ทำให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่สงบ คือเรื่องของความอึมครึมตึงเครียด และนโยบายการใช้การทหารนำการเมือง

“บรรยากาศมันอึมครึม ต่างฝ่ายต่างใช้ความรุนแรงเข้าหากัน ไม่มีใครรู้ว่าความรุนแรงและการประหัตประหารชีวิตกันในแต่ละวันมันมาจากเหตุผลและวัตถุประสงค์อะไร มันมีสมมติฐานหลายอย่างที่ใช้ในการอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พวกนักวิชาการหรือฝ่ายทหารก็จะบอกว่าหัวหอกของการก่อการร้ายคือพวก BRN-Coordinate ซึ่งพวกเขาต่างจินตนาการกันว่าเป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่ มีโครงสร้างชัดเจน และมีการสั่งงานเป็นขั้นเป็นตอน เป็นลำดับขั้นชัดเจน การที่ไปเอะอะเป็นตุเป็นตะเอาเองอย่างนั้นมันจะนำไปสู่การเข้าใจผิด การแก้ปัญหาเลยไม่ถูกที่ถูกทาง”

“อีกอย่างคือการใช้การทหารนำการเมือง พื้นที่ที่ภาคใต้มีสถาพคล้ายเมืองที่เป็นอาณานิคมอยู่เต็มที ถึงแม้ว่าในอดีต สยามจะเคยบุกตีรัฐปัตตานีมาเป็นเมืองขึ้นก็ตาม แต่ในเมื่อมีการหลอมรวมกันเป็นชาติเดียวแล้ว ก็น่าจะหาวิธีปฏิบัติต่อกันให้ดีหน่อย เพราะความรุนแรงจากรัฐและจากขบวนการเองเป็นเหตุของความไม่สงบในปัจจุบัน”

กิจกรรมที่ทำ

หลังจากกลับมาจากจังหวัดชายแดนใต้ ปาลิดาก็ได้เริ่มทำกิจกรรมอย่างจริงจัง
“พอกลับมากรุงเทพฯ ก็เริ่มเข้าไปทำกิจกรรมกับพี่ที่มหาวิทยาลัยที่เราสนิทเพิ่มมากขึ้น รู้จักคนเพิ่มมากขึ้น เลยไปเข้ากลุ่มทำกิจกรรมกับกลุ่มประกายไฟ กลุ่มที่ใช้แนวคิดแบบมาร์กวิเคราะห์สังคม ก็มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลายในกลุ่มนั้น เช่น การจัดเสวนา การจัดกลุ่มศึกษากันเองภายในกลุ่มเพื่อเพิ่มพูนความรู้ แรกๆ ที่อ่านงานมาร์กนี่จะอ้วก เลี่ยน เอียน มากกับแนวคิด คิดว่ามาร์กคงไม่ใช่คำตอบของสังคมทั้งหมด แต่ก็สามารถนำมาประยุกต์ให้เข้ากับสภาพบ้านเมืองและสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างไม่ติดขัด เช่น การเรียกร้องให้มีรัฐสวัสดิการในประเทศไทย การเรียกร้องสิทธิที่แรงงาน สิทธิของคนรากหญ้าทั่วไปควรจะได้รับ”

“มันก็เกิดคำถามในใจอีกว่าสิ่งที่เราทำอยู่ในประกายไฟคือคำตอบสุดท้ายหรือ คำตอบคือ ‘ไม่’ แต่แนวทางในการทำงานส่วนหนึ่งของกลุ่มมันตรงกับทัศนคติของเราที่มีต่อโลก เช่น ไม่ชอบการเอารัดอาเปรียบ ไม่ชอบการกดขี่ แต่การอยู่กลุ่มประกายไฟนี่เพื่อการเรียนรู้งาน การเรียนรู้การทำงานร่วมกันกับสังคมที่นอกเหนือกว่าโรงเรียน มีความคิดที่โตขึ้นจากเด็กที่กะโหลกกะลาไปวัน รับรู้ปัญหาของสังคมมากขึ้น ตอบปัญหาที่เคยตั้งไว้กับโลกว่าทำไมสิ่งนั้นถึงเป็นอย่างนี้ สิ่งนี้ถึงเป็นอย่างนั้นได้บ้าง”

“ได้มาทำงานกับอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่ม Food Not Bombs กลุ่มนี้มีจุดเริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกาแล้วกระจายไปยังประเทศอื่นๆทั่วโลก เป็นกลุ่มที่ต่อต้านความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะต่อมนุษย์ ต่อสัตว์ ต่อสังคม อันที่จริงกลุ่มนี้พี่เขาเพิ่งนำเข้ามาในไทยเมื่อหนึ่งถึงสองปีก่อน ทำกิจกรรมรณรงค์อยู่พักหนึ่ง ก็หายหน้าหายตาไปทำงานอื่น”

“พอเราเข้ามาเขาก็ทำการ re-branding ใหม่ เริ่มต้นใหม่หมด เรียกประชุมคิดประเด็นรณรงค์ใหม่ แนวทางการทำกิจกรรมใหม่ ให้มันน่าสนใจ น่าดึงดูดพอที่จะดึงคนรุ่นใหม่มาสนใจประเด็นทางสังคมมากขึ้น มันเป็นงานที่ยากมาก ที่จะทำยังไงให้มองดูแล้วกิจกรรมที่ปล่อยออกมาดูไม่เครียด แต่ชื่อกลุ่มเราก็ดูแปลกแหวกแนวอยู่แล้ว ประเด็นที่เราจะเล่นคือการใช้งบทหารที่ฟุ่มเฟือย เพราะแทนที่จะเอาเงินไปอุดหนุนงบทหารซะมากมาย เงินเหล่านั้นสามารถนำไปพัฒนาสวัสดิการเพื่อประชาชนที่ยากจนได้อีกมาก”

“แล้วเรายังมองว่าความอดอยากหิวโหยเป็นความรุนแรงอีกแบบหนึ่งด้วย เพราะมันสามารถส่งผลเป็นลูกโซ่ได้อีกหลายๆ เหตุการณ์ อย่างการลักทรัพย์ การทำร้ายร่างกาย ฯลฯ เรามีการจัดกิจกรรมขึ้นมาหลายๆ กิจกรรม เช่น การแจกอาหารมังสวิรัติต่อคนที่อดอยาก การพาสมาชิกไปสัมผัสวิถีชีวิตของแรงงานที่น้อยคนนักจะรู้ว่าเขามีความเป็นอยู่ยังไง ผลตอบรับที่ได้จากเยาวชนยังได้รับความสนใจที่ยังน้อยอยู่ หากถามว่าแนวทางของกลุ่มนี้ถูกใจไหม ก็คงต้องตอบว่าไม่ แต่ก็ยังอยากทำต่อไป เพราะสังคมไทยยังขาดการเรียกร้องต่อเรื่องนี้อยู่ และยังคงต้องหาแนวทางของตัวเองต่อไป”

ปาลิดาแสดงความเห็นต่อการวิจารณ์ว่าการทำงานของ Food not Bombs ว่าเป็นแนวสังคมสงเคราะห์มากเกินไป เธอคิดเห็นว่าการแจกอาหารไม่ใช่เป้าหมายหลักของกลุ่ม

“การแจกอาหารไม่ใช่เป้าหมายหลัก มันคือกิจกรรมหลัก แต่การสร้างกิจกรรม การทำงานร่วมกัน สร้างสังคมที่เกื้อกูลกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกันต่างหาก เป็นสิ่งที่เราจะทำต่อไป”

ซึ่งปาลิดามองว่ากิจกรรมของ Food not Bombs เหมาะสำหรับคนที่อยากทำกิจกรรมทางสังคม คนรุ่นใหม่ก็สามารถเริ่มต้นจากกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้เพื่อแสวงหาต่อยอดในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมอื่นๆ ที่เข้มข้นกว่าในอนาคตได้
แต่การทำกิจกรรมของ Food not Bombs ก็ยังพบอุปสรรค โดยเฉพาะเรื่องของทรัพยากรในการดำเนินกิจกรรม
“เรายังขาดทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็น คน เงิน และเวลา ในการดำเนินงาน ใช่ว่าทรัพยากรคนที่มีอยู่ของเราไม่มีคุณภาพ แต่สมาชิกของเราเกือบทั้งหมดเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา เลยไม่มีใครทำงานให้องค์กรเต็มเวลา การดำเนินกิจกรรมเลยไม่ค่อยต่อเนื่องเท่าไหร่ แต่ก็ยังมีกิจกรรมออกมาตลอด เราไม่มีการเก็บค่าสมาชิกก็เลยต้องเขียนโครงการไปพึ่งแหล่งทุนอื่น”
อย่ามองเด็กเหมารวม

เมื่อถามว่าคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะเด็กมัธยม โดนวิจารณ์เรื่องไม่สนใจปัญหาสังคม ปาลิดาให้ความเห็นว่าในบางครั้งมองเด็กเพียงด้านเดียว และบ่อยครั้งยังแถมประเด็นการ ‘เหมารวม’ พร้อมกับย้อนถามว่า ต้นเหตุแท้จริงมันมาจากความคาดหวังของผู้ใหญ่ ที่มักวางกรอบให้เด็กไม่สนใจปัญหาสังคมตั้งแต่ต้นมาแล้ว

“อันที่จริงพวกผู้ใหญ่จะไปพูดว่าเด็กไม่สนใจปัญหาสังคมไปทั้งหมดก็ไม่ถูกนะ เด็กมัธยมรุ่นนี้ก็สนใจปัญหาสังคมเหมือนกัน กรุณาอย่าพูดแบบ ‘เหมารวม’ ซึ่งพวกเด็กๆ ก็มักคิดว่าสนใจปัญหาสังคมแล้วกูทำอะไรได้วะ แล้วสังคมตอนนี้ส่วนใหญ่ก็บริโภคนิยมฉาบฉวยกันมั้ง ทุกวันนี้การแข่งขันในระบบการศึกษามันสูงมาก ใครดีใครได้และก็ต้องมาเครียดกับการอ่านหนังสือเรียน เครียดกับเรื่องการเตรียมสอบ อนาคตของตัวเองเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า”

“แล้วพวกผู้ใหญ่นี่แหละชอบปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าหน้าที่ของเด็กคือตั้งหน้าตั้งตาเล่าเรียนหนังสือเข้าไป ยังไม่ต้องไปสนใจเรื่องอื่นเพราะไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไกลตัว ปล่อยให้ผู้ใหญ่เขาทำไปเถอะ ตัวแค่นี้จะไปทำอะไรได้ แบบนี้จะไปโทษเด็กได้ยังไงมันอยู่ที่การปลูกฝังและความสนใจเฉพาะตัวเด็ก”

“แล้วสภาพแวดล้อมในขณะนี้ หากนำไปเทียบกับยุคที่นักเรียนนักศึกษาตื่นตัวมากๆ อย่างช่วง สิบสี่ตุลา หกตุลา ก็จะเห็นว่าสภาพแวดล้อมมันต่างกัน อุดมการณ์ที่จะทำเพื่อสังคมมีสูงมาก มีเหตุการณ์หลายๆ เหตุการณ์ที่กระตุ้นให้พวกเขาเหล่านั้นรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมทางสังคม อย่างการออกค่ายไปสัมผัสชีวิตชาวนา การตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อพูดคุยกันถึงความเป็นไปของบ้านเมือง หรืออะไรเทือกนั้น แต่ในปัจจุบันพวกถึงแม้ว่าเด็กจะรับรู้ถึงปัญหาสังคม แต่ก็ไม่ได้มีความรู้สึกร่วมต่อปัญหานั้น ไม่ได้มีการนำปัญหานั้นมาต่อยอด มาจับกลุ่มคุยกันว่าว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้างต่อปัญหานั้นๆ เพราะมันเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ น่ารำคาญ และแลดูไกลตัวเกินไป”

“เพื่อนๆ ในวัยเดียวกันจะสนใจแต่เรื่องของการจะทำยังให้ได้คะแนนดีๆ การที่จะทำยังไงให้ตัวเองสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ แน่นอนเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับเด็กทุกคนเพราะสมัยนี้จบปริญญาตรี ยังหางานทำไม่ได้เลย นับประสาอะไรกับแค่ ม.6 ดังนั้นการเข้ามหาวิทยาลัยจึงเป็นจุดมุ่งหมายเดียวและเป็นเป้าหมายร่วมของเด็กวัยนี้ ฉะนั้นการทำกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่จึงทำไปในทิศทางเดียวกัน อย่างการไปเรียนโรงเรียนกวดวิชาชื่อดัง การเอาเวลาส่วนใหญ่ไปอ่านหนังสือ มากกว่าจะอาเวลามาสนใจปัญหาสังคม ซึ่งเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เวลาจะหาแนวร่วมทำกิจกรรมของ Food not Bombs หรือกิจกรรมอื่นๆ นี่ยากมาก”
การเมือง “เหลือง - แดง”

ในประเด็นการเมืองไทยปัจจุบัน เมื่อถามปาลิดาว่าคิดอย่างไร กับการเมือง “เสื้อเหลือง เสื้อแดง” รวมถึงบรรยากาศการพูดคุยของเด็ก ม.6 เกี่ยวกับเรื่องการเมืองปัจจุบัน

“ผลประโยชน์มันล่อตาล่อใจอำนาจมันล่อไม้ล่อมือเลยมีมหกรรมแย่งชิงพื้นที่ทางการเมืองเป็นการใหญ่แต่ไหนแต่ไร ไม่ต้องจัดมหกรรมประจำปี เพราะมันเกิดทุกวัน เมื่อถามว่าประชาชนได้อะไรที่ควรได้บ้างไหม ก็ได้อะไรที่มันไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีรุ้ง มันก็ได้แต่คนในเมืองทั้งนั้น แล้วคนที่อยู่รอบนอกล่ะ เขาไม่ได้อยู่ในประเทศไทยหรือไง”

“เลยเกิดคำถามว่าบ้านเมืองเราคงมีปัญหาเรื่องชาติพันธุ์น้อยเกินไปหรือเปล่า เลยต้องสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมาเพื่อเพิ่มความแตกต่าง เสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อน้ำเงิน เสื้อขาว เสื้อชมพู เสื้อสีรุ้ง บลา บลา บลา ผุดขึ้นมาเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด แน่ล่ะ สถาณการณ์ทางการเมืองมันส่งผลให้ต้องแสดงออกถึงเจตนารมณ์และอุดมการณ์ แต่คุณต้องไม่ลืมว่าการแสดงออกที่ชัดเจนอย่างเสื้อเหลือง เสื้อแดงนั้น มันเป็นการแบ่งขั้วมากเกินไปหรือเปล่า”

“อย่างสมมุติว่าคนที่มีความคิดไม่สนับสนุนทักษิณ แต่อยากได้ประชาธิปไตยไม่เทียมจะจัดเขาอยู่ตรงโซนไหนของเสื้อแดง แดงเข้ม แดงปานกลาง แดงอ่อนหรือแดงอ่อนๆ จะนิยามคำว่าเสื้อแดงยังไง หรือถ้าสมมติว่าคนที่ไม่ต้องการทุนนิยมสุดขั้ว ไม่ต้องการนักกินเมืองขี้ฉ้อ แต่ยังอยากได้นายกฯแบบที่มาจากประชาธิปไตยล่ะ จะแบ่งยังไง เหลืองเข้ม เหลืองปานกลาง เหลืองอ่อน หรือเหลืองอ่อนๆ นี่คือปัญหา การเมืองไทยเป็นอะไรที่เข้าใจยากมาก หากจะให้นิยามตัวเองด้วยสี คงจะเป็นสีส้ม”

และเมื่อถามถึงบรรยากาศในชั้นเรียนของปาลิดา เกี่ยวกับการพูดคุยเรื่องการเมือง ว่าเชียร์เสื้อเหลือง เชียร์เสื้อแดง เชียร์อภิสิทธิ์ เชียร์ทักษิณ บ้างไหม ปาลิดาให้คำตอบสั้นๆ

“คุยกันบ้าง ก็เชียร์แบบตามกระแสเสื้อเหลืองฟีเวอร์เลย พี่มาร์คสุดหล่อ การศึกษาดี ชาติตระกูลดี แต่ก็ไม่รู้ว่าทำไมทักษิณถึงเลวเสื้อแดงถึงถ่อย”

… เหล่านี้คือคำตอบของเด็ก ม.6 โรงเรียนอัมพรไพศาล ที่กำลังผิดหวังกับผลการสอบกลางภาคนิดหน่อย แต่อีกด้านหนึ่งเธอกำลังมุ่งมั่นทำกิจกรรมนอกห้องเรียนเพื่อเผาผลาญชีวิตวัยเยาว์ของตัวเองอย่างขมักเขม้น

ที่มา http://www.prachatai.com/journal/2009/08/25593

ปาฐกถา สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ: “บทเรียนและการต่อสู้ของสหภาพแรงงานกับรัฐและทุนข้ามชาติ”


แล ดิลกวิทยรัตน์ นักวิชาการด้านแรงงาน เป็นตัวแทนมอบเหรียญแด่ตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ บุญรอด สายวงศ์ เลขาธิการสหภาพฯ


เมื่อวันที่ 23 กรกฏาคม มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มอบเหรียญเจริญ วัดอักษร ประจำปี 2552 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่มอบให้กับนักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง ในการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย โดยผ่านกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การปกป้องทรัพยากร หรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนในทุกรูปแบบ ให้แก่ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย

ในงานดังกล่าว นางสาวจิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ในฐานะตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวปาฐกถา เรื่อง “บทเรียนและการต่อสู้ของสหภาพแรงงานกับรัฐและทุนข้ามชาติ” ดังนี้



00000





จิตรา คชเดช
ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ






“ความเข้มแข็งของเรา ไม่มีอำนาจใด ที่จะล้มล้างไปได้และผมคิดว่า…ชุมชนของเราต้องดีขึ้นเมื่อพี่น้องประชาชนรวมตัวกัน พลังของเรายิ่งใหญ่…หลาย ๆ เรื่องที่จะเข้ามาในชุมชน แม้แต่นายทุนข้ามชาติก็แล้วแต่…เราสู้ได้ ถ้าพี่น้อง ประชาชน ยังรวมตัวกัน” นี่เป็นคำกล่าวของเจริญ วัดอักษร




สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2523 ได้ผ่านการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด มาอย่างต่อเนื่อง เรื่องค่าจ้างและสวัสดิการเรื่องสิทธิเสรีภาพของคนงานเช่นการลางานเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในปี 2524 มีการยื่นข้อเรียกร้องให้นายจ้างเยอรมันหยุดกิริยาเหยียดหยามคนไทย ทุกอย่างเกิดขึ้นจากการยื่นข้อเรียกร้องของคนงานและสหภาพแรงงานฯ ต่อบริษัทฯ ทั้งหมด ทุกอย่างไม่ได้มาจากนายจ้างใจดี และให้มาเฉยๆ โดยที่ไม่มีสาเหตุ บริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ได้จดทะเบียนเมื่อปี พ.ศ. 2512 ได้เช่าอาคารสิวะดล แถวถนนคอนแวนต์ สีลม โดยมีคนงานไม่กี่ 100 คน และเริ่มขยายกิจการมีผู้ถือหุ้นที่น่าสนใจ คือนายเดวิด ไลแมน เจ้าของบริษัทติลลิกีแอนด์กิบบินส์ บริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายเก่าแก่ที่สุดในมืองไทย 100 กว่าปีและนางเลียวนี่ เดซี่ เวชชาชีวะ มีชาวเยอรมันเป็นหุ้นส่วนใหญ่จดทะเบียนในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปัจจุปันบริษัทตั้งอยู่ที่ที่ 393 หมู่ 17 นิคมอุตสาหกรรมเมืองใหม่บางพลี ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ. สมุทรปราการ มีคนงานประมาณ 4,200 คน และทำการผลิตชุดชั้นใน ชุดว่ายน้ำ ยี่ห้อ ไทรอัมพ์ วาเลเซีย สล๊อคกี้ AMO, HOM และได้รับจ้างผลิตชุดชั้นในชื่อดังหลายยี่ห้อเช่นมาร์คแอนสเปนเซอร์ บริษัทได้เริ่มขยายสาขาไปที่จังหวัดนครสวรรค์ ชื่อบริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด. ที่อยู่ : 194/2 หมู่ 5 พหลโยธิน ตำบลหนองกรด อำเภอเมือง จ. นครสวรรค์ 60240 และเมื่อปี 2551 บริษัทบอดี้แฟชั่นฯ นครสวรรค์ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นเงิน 75.5 ล้านบาท ได้ขยายโรงงานรองรับการผลิตบรรจุพนักงานได้ 2,000 กว่าคน

สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เป็นสหภาพแรงงานฯ ที่ทำงานกับสมาชิกและคนงานมาโดยตลอดเราเป็นสหภาพแรงงานฯ ที่ใช้ระบบการเก็บเงินค่าบำรุง สื่อข่าวสาร รับเรื่องราวร้องทุกข์ รับคำเสนอแนะ ผ่านระบบตัวแทนไลน์ตัวแทนแผนก และเป็นสหภาพแรงงานที่ประธานสหภาพมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากที่ประชุมใหญ่

ตัวแทนไลน์ตัวแทนแผนกมาจากไหน? ก็คือได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกในไลน์การผลิตนั้นๆ โดยใช้โครงสร้างของบริษัทให้เกิดประโยชน์คือตัวแทนไลน์เทียบเท่าหัวหน้างาน แต่มาจากการเลือกตั้งของคนในไลน์นั้น หนึ่งไลน์การผลิต เท่ากับประมาณห้าสิบคน ตัวแทนไลน์จะนำเรื่องต่างๆ เข้าสู่ที่ประชุมตัวแทนไลน์ซึ่งจัดให้มีเดือนละหนึ่งครั้งและกรณีเร่งด่วนนำสู่กรรมการสหภาพแรงงานฯ กรรมการจะนำเรื่องเข้ามาแก้ปัญหาโดยเร็ว เมื่อมีคนงานใหม่ตัวแทนไลน์จะแนะนำให้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานฯ จึงมีสมาชิกในฝ่ายผลิตเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ซึ่งถือว่าเป็นสหภาพแรงงานที่เป็นประชาธิปไตย

การจัดกิจกรรมสมาชิก สหภาพแรงงานจัดให้มีกลุ่มศึกษาในเวลาพักกลางวันใช้เวลาประมาณยี่สิบนาทีเราจะคุยกันทุกเรื่องเรื่องปัญหาในบ้าน ในโรงงาน ในบ้านเมือง และจัดให้การศึกษาหลังเวลาเลิกงานในเเรื่องต้นทุนการผลิต กำไร จำนวนงานที่ทำกับสิ่งที่เราได้ตอบแทน และจัดให้กับเพื่อนคนงานในโรงงานทุกคน

สหภาพแรงงานฯ ได้ป็นสหภาพที่ร่วมก่อตั้งและเป็นสมาชิกสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ ได้เข้าร่วมเรียกร้องประกันสังคม เรียกร้องประกันการว่างงาน เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองที่สำคัญเช่นเหตุการณ์พฤษภาปี 35 เข้าร่วมต่อต้านรัฐประหาร ปี 49 เราเรียกร้องสิทธิทำแท้งเข้าถึงสุขอนามัยและถูกกฎหมายรวมถึงเรียกร้องรัฐสวัสดิการ

ในปี 2535 สหภาพแรงงานฯ ได้พาคนงานผละงานทั้งหมดเรียกร้องให้นายจ้างเข้ามาดูแลคนงานเรื่องสวัสดิการรถรับส่ง ได้หยุดงาน 18 วัน จนเป็นเหตุให้รัฐมนตรีใช้มาตรา 35 ให้คนงานกลับเข้าทำงาน

เมื่อปี 2542 สหภาพแรงงานฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทฯ ไม่สามารถตกลงกันได้จนถึงขั้นนายจ้างปิดงาน คนงานชุมนุมอยู่หน้าโรงงาน 22 วันและได้มีข้อตกลงสภาพการจ้างออกมาเรื่องการเลิกจ้างให้นายจ้างต้องร่วมกับสหภาพแรงงานฯ ให้เกิดความเป็นธรรมและเสมอภาค

ในบริษัทบอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีระบบการจ้างงานที่ให้คนงานมีแรงจูงใจในการทำงานสำหรับพนักงานเย็บ คือเย็บงาน 40 ชิ้นบริษัทจะจ่ายเป็นคูปอง ในคูปองจะกำหนดนาทีแล้วแต่ความยากง่าย เมื่อได้นาทีแล้วจะต้องนำไปส่งตอนเย็นเลิกงาน และบริษัทจะนำคูปองมาคิดเป็นเงิน (ราคาต่อนาที มาจากการยื่นข้อเรียกร้อง ตัวอย่างเช่น วันนี้ทำงานได้ 500 นาทีX ราคาคูปอง 1.300บาท=650 บาท เท่ากับคนงานจะได้ค่าจ้าง 650 บาท ถ้าทำไม่ได้จะได้ค่าจ้างมาตรฐาน 333 บาท) ฉะนั้นคนงานยิ่งทำงานมากยิ่งได้เงินมากพวกเราเลยได้เห็นการทำงานที่ไม่กินน้ำ ไม่เข้าห้องน้ำ เข้างานก่อนเวลา และป่วยเป็นโรคไต ปวดหลังกันมากที่สุด เมื่อต้นปี 2547 บริษัทฯ ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงขบวนการผลิต และจะใช้ที่ประเทศไทยเป็นที่แรกนำร่องและเริ่มใช้กับส่วนที่ผลิตชุดว่ายน้ำเท่านั้น ถ้าที่ไทยประสพความสำเร็จจะนำไปปฎิบัติที่อื่นต่อไป คือลดนาทีคูปองเคยเย็บได้ 40 ชิ้น ได้ 10 นาที มาเปลี่ยนเป็น 5 นาที สหภาพแรงงานฯ ได้ออกมาคัดค้านจนเป็นเหตุให้บริษัทฯ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จนถึงปัจจุปัน (พวกเราเชื่อว่าเป็นระบบการจ้างงานที่ขูดรีดแรงงานของเรามากที่สุดในโลก)

ในขณะเดียวกันเมื่อ ปี 2549 สหภาพแรงงานได้ตั้งคณะกรรมการสหภาพแรงงานชุดใหม่มี จิตรา คชเดช เป็นประธานสหภาพแรงงานฯ และเป็นพนักงานเย็บชุดว่ายน้ำและกรรมการสหภาพแรงงานทั้งหมดส่วนใหญ่เกินครึ่งมาจากส่วนผลิตชุดว่ายน้ำและในปีนี้เองเป็นปีแรกที่ประธานสหภาพมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากที่ประชุมใหญ่ ตั้งแต่กรรมการชุดใหม่ถูกเลือกตั้งมา เมื่อมีการเลิกจ้างคนงานไม่เป็นธรรม การจัดรถรับส่งที่ไม่ได้มาตรฐาน การจัดผ้ายูนิฟอร์มที่คุณภาพต่ำให้กับคนงาน การจัดงานวันครอบครัว การจัดงานไปเที่ยวต่างจังหวัดที่เป็นไปแบบไม่โปร่งใส รวมถึงการออกคำสั่งใบเตือนเร่งเป้าการผลิตสำหรับคนท้องคนงานอายุมาก และความปลอดภัยในโรงงาน คนงานในส่วนชุดว่ายน้ำจะเริ่มหยุดทำงานล่วงเวลาและนำไปสู่การหยุดทำงานล่วงเวลาของคนงานทั้งโรงงาน และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบทุกเรื่องอย่างเข้มงวดและสหภาพแรงงานได้ส่งกรรมการสหภาพเข้าไปดูแลทุกเรื่องอย่างใกล้ชิด มีอยู่ครั้งหนึ่งในบริษัทฯ มีพนักงานเอาเหล้ามาดื่มในเวลาทำงานในวันหยุดทั้งหมดประมาณ 20 คน รวมถึงหัวหน้างานด้วย บริษัทฯ เลิกจ้างคนงานกินเหล้าในโรงงาน 5 คน สั่งพักงาน 1 คน ที่เหลือไม่มีการลงโทษใดๆ ครั้งนั้นสหภาพแรงงานเรียกร้องให้บริษัทฯ ไม่เลือกปฏิบัติและมีคนงานหยุดการทำงานล่วงเวลา จนเป็นเหตุให้บริษัทฯ รับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงานตามปกติ

เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 พนักงานฝ่ายขายในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้พร้อมใจกันผละงาน เพื่อเรียกร้องให้บริษัทเอาผู้บริหารระดับสูงของฝ่ายขายออกไปและให้ผู้บริหารชาวสิงคโปรค์ออกมาขอโทษคนงานกรณีที่เอาเท้าเต๊ะงานให้พนักงานขายคนไทยและให้คืนค่าคอมมิชชั่นจากการขายให้เท่าเดิม ในขณะนั้นสหภาพแรงงานได้เข้าไปร่วมเจรจาจนสามารถตกลงกันได้และในครั้งนั้นพนักงานทั้งหมดฝ่ายขายทั่วประเทศได้มาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานทั้งหมด

ในปี 2550 ในขณะที่ประเทศไทยกำลังจัดให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ ในขณะที่คนงานไทรอัมพ์กำลังจะยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเพื่อปากท้องของตัวเอง พวกเราไม่สามารถจัดให้มีการประชุมสมาชิกได้ พวกเรามีทหารมาแจ้งว่าไม่ให้จัดการประชุม และเราก็มีทหารมาตั้งเต๊นที่หน้าโรงงานเพื่อตรวจบัตรคนงานที่ทำโอทีและถามว่าพวกเราจะไปใหนกัน ในขณะที่ประธานสหภาพแรงงานโดนนายจ้างเรียกไปขอความร่วมมือห้ามหยุดงานเพราะ กอ.รมน.จังหวัดได้ขอร้อง

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2551 ประธานสหภาพแรงงานฯ จิตรา คชเดช ได้รับเชิญให้ไปออกรายการโทรทัศน์ ช่อง NBT เรื่องทำท้องทำแท้ง เวลา 5 ทุ่ม ในขณะที่ประเทศไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองบริษัทฯ ได้ฉวยโอกาส วันที่ 28 เมษายน เริ่มมีใบปลิวเป็นกระดาษที่ใช้แล้วของบริษัทฯ ออกมาโจมตีประธานสหภาพฯ มีผู้จัดการบางคนทำใบปลิวด่าประธานสหภาพฯ โดยใช้กระดาษอุปกรณ์ทุกอย่างของบริษัททั้งหมด และในใบปลิวมีข้อความให้ทำร้ายและถ่ายเอกสารคอมเม้นท้ายข่าวเว็บไซต์ผู้จัดการมาแจกคนงานวันที่ 30 เมษายน บริษัทฯ เรียกจิตรา ให้ไปชี้แจง เรื่องดังกล่าวและบอกว่าบริษัทไม่ได้มีปัญหาอะใร หลังการชี้แจงอนุญาติให้ใช้เครื่องเสียงและพื้นที่โรงอาหารของบริษัทฯ ในการชี้แจงต่อเพื่อนพนักงานแต่สมาชิกสหภาพแรงงานเข้าใจทันทีว่าเป็นการทำลายสหภาพแรงงานไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของประธาน

วันที่ 9 มิถุนายน 2551 สหภาพแรงงานฯ ยื่นข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง บริษัทฯ ได้นัดการเจรจาข้อเรียกร้อง ตัวแทนของบริษัทโดยนายมาคูส คาร์บิส (Markus Kabisch) กล่าวว่า “ไทรอัมพ์เป็นบริษัทที่มีบริษัทเป็นของตัวเอง ยังเป็นบริษัทท้ายๆ ที่คงโรงงานไว้ ตามตารางเห็นว่าไทรอัมพ์มีต้นทุนสูง เจ้าของกิจการอาจมีมุมมองในเรื่องการจ้างซับคอนแทคแทน” การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ จนนำไปสู่การพิพาทแรงงาน การเจรจาวันที่ 30 มิถุนายน 2551 สหภาพแรงงานฯ ได้แจ้งบริษัทว่าจะขอมตินัดหยุดงานในวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 วันที่ 2 กรกฎาคม 2551 บริษัทฯ และสหภาพแรงงานบรรลุข้อตกลงเป็นข้อตกลงที่สหภาพแรงงานฯ ไม่คิดว่าจะได้ฟังแบบไม่เชื่อว่าบริษัทจะให้ แต่เป็นที่พอใจของคนงานเป็นอย่างมาก

วันที่ 29 กรกฎาคม 2552 เป็นวันที่บริษัทฯ เรียก จิตรา ประธานสหภาพแรงงาน ไปที่อาคารวานิชแล้วแจ้งว่าบริษัทได้เลิกจ้างตามคำสั่งศาล เมื่อคนงานทราบข่าว วันที่ 30 กรกฎาคม 2551 สมาชิกสหภาพแรงงานและคนงานเกือบทั้งหมดได้ผละงานออกมาประท้วงเรียกร้องให้บริษัทรับประธานสหภาพกลับเข้าทำงาน สมาชิกเชื่อว่าเป็นการทำลายสหภาพแรงงาน วันที่ 12 กันยายน 2551สามารถหาข้อยุติได้ เป็นเวลา 45 วัน

สหภาพแรงงานเข้าใจว่าที่สุดพวกเราไม่สามารถทนต่อสภาพที่ไม่มีเงินค่าเช่าบ้าน เงินให้ลูกไปโรงเรียนและเงินที่ต้องส่งให้พ่อกับแม่ที่ต่างจังหวัดได้ จึงปรึกษากันว่าทุกคนจะกลับเข้าทำงานและจะเก็บเงินเป็นค่าจ้างให้จิตรา อยู่กับสหภาพแรงงาน โดยเป็นเจ้าหน้าที่และที่ปรึกษาและจิตราไปสู้ในชั้นศาล

ศาลใช้เวลาไต่สวนสี่วันและหลังจากนั้น หนึ่งอาทิตย์ศาลตัดสินว่าการใส่เสื้อที่มีข้อความไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม ไปออกทีวีนั้นเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายให้นายจ้างเลิกจ้างได้เพราะลูกจ้างไม่มีจิตวิญญาณประชาชาติไทย

ในขณะที่บริษัทฯ มี Code of Conduct หลักปฎิบัติของไทรอัมพ์ได้พูดสิทธิเสรีภาพ ในการแสดงออก ความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง ได้รับมาตรฐานแรงงานไทย แต่รัฐบาล กระทรวงแรงงานไม่สามารถดำเนินการอะใรกับบริษัทฯ ได้อ้างอย่างเดียวว่าอยู่ในชั้นศาล

วันที่ 29 มิถุนายน 2552 บริษัทได้ประกาศเลิกจ้างคนงานทั้งหมด 1,959 คน คนงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตชุดว่ายน้ำทั้งหมดถูกเลิกจ้างเหลือไว้แต่พนักงานเย็บตัวอย่างชุดว่ายน้ำ ทำแพทเทิร์น ทำนาทีคูปอง และเหลือหัวหน้างานไว้ เพียง 8 คน คนงานในการผลิตชุดชั้นใน ถูกเลือกส่วนใหญ่ คนท้อง คนอายุใกล้เกษียณ คนป่วย คนพิการ และคนที่ลงชื่ออันดับต้นๆ ที่แสดงเจตนารมณกลับเข้าทำงานเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2551มีกรรมการสหภาพแรงงานถูกเลิกจ้างทั้งหมด 13 คน จากกรรมการสหภาพแรงงาน 18 คน

การเลิกจ้างครั้งนี้บริษัทฯ อ้างว่า “ต้องการปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายระยะยาวของไทรอัมพ์ทุกหน่วยงาน จุดมุ่งหมายเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมขององค์กรให้มีประสิทธิผล ทำให้เกิดความมั่นใจว่าธุรกิจของเรายังคงยืนหยัดอยู่ได้ด้วยความมั่นคงและยังขยายต่อได้เมื่อโอกาสมาถึง” พวกเราเชื่อว่าการเลิกจ้างครั้งนี้เป็นการทำลายสหภาพแรงงาน หาแหล่งค่าจ้างราคาถูก เตรียมใช้ระบบจ้างงานซับคอนแทค ที่นายทุนไม่ต้องรับผิดชอบสวัสดิการ การเรียกร้องจากสหภาพแรงงาน


ตลอดระยะเวลา 29 ปีของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เป็นเวลาที่ต้องต่อสู้ตลอดนับตั้งแต่วันเริ่มต้นที่พวกพี่ๆ ต้องหลบๆ ซ่อนๆ กว่าจะมีองค์กรได้ ก็ต้องเริ่มต้นปกป้อง เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ปากท้อง ความเป็นอยู่ที่ดีของคนงานต่อนายทุน ต่อรัฐบาล ไม่เคยมีสักครั้งที่ทุกอย่างจะได้มาโดยง่ายดายแต่พวกเรายังได้บ้าง ไม่ได้บ้างถึงจะไม่ถึงเป้าหมายแต่มันเกิดจากการ “รวมตัวกัน” ของคนงานจึงทำให้เรามีอำนาจ พลังที่จะสามารถต่อรองได้




สหภาพแรงงานฯ กำลังถูกทำลายโดยนายทุนที่ร่วมมือกับรัฐบาล กลไกทุกอย่างของรัฐที่สร้างขึ้นมา เช่น คุก ศาล ทหาร ตำรวจ กระทรวงแรงงาน มีไว้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนายทุน เพราะนายทุนต้องการกำไรสูงสุดในขณะที่รัฐบาลก็มีแต่ตัวแทนนายทุน ในขณะที่คนงานคนจนไม่มีตัวแทนของเราในรัฐบาลมีแต่คอยเรียกร้องให้รัฐบาลช่วย เพราะเชื่อว่ารัฐจะเป็นกลางแต่ตลอดระยะเวลาการต่อสู้ของคนงานไทรอัมพ์ไม่เคยมีสักครั้งที่รัฐจะช่วยเหลือและเป็นกลาง มีแต่รัฐจะเข้ามาแทรกแซงเมื่อคนงานอย่างพวกเรากำลังจะได้อะไรจากนายทุนบ้าง เมื่อพวกเราถูกกระทำเราไม่เคยเห็นหน้ารัฐ เช่นทุกวันนี้ที่พวกเราชุมนุมกันที่หน้าโรงงานเพราะถูกเลิกจ้าง ทำไมต้องเลิกจ้างเพราะนายทุนและรัฐกำลังทำลายการรวมตัวของเรา เพราะเขารู้ว่าเราสู้ได้เรานำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ถ้าเรารวมตัวกัน

กลไกสำคัญที่รัฐสร้างขึ้นมาที่คนงานส่วนใหญ่หลงเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตคนงานดีขึ้นคือระบบไตรภาคี ระบบไตรภาคีเป็นระบบที่ทำให้คนงานแบ่งแยก ช่วงชิงและไม่ได้ให้ประโยชน์กับขบวนการแรงงานแต่เป็นการเอื้อประโยชน์กับผู้นำบางคนที่สุดแล้วคนงานก็ยังถูกควบคุมมากขึ้นจากพวกเรากันเองด้วยซ้ำ

เมื่อเราย้อนถึงคำพูดของคุณเจริญ วัดอักษร “เราสู้ได้ ถ้าพี่น้อง ประชาชน ยังรวมตัวกัน” เช่นเดียวกันคนงานสู้ได้ถ้าเรารวมตัวกัน

การต่อสู้ของคนงาน คนจนไม่มีวันจบสิ้นตราบใดที่นายทุนยังไม่หยุดการแสวงหากำไรสูงสุด ตราบใดที่อำนาจรัฐอยู่ในมือนายทุน และตราบใดที่คนงานคนจนยังขาดการรวมตัวกันและคนงานคนจนยังไม่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ


ที่มา http://www.prachatai.com/journal/2009/08/25550

วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2552

คุณคือ...กรรมาชีพ!

ชนชั้นนายทุน หมายถึงชนชั้นนายทุนสมัยใหม่ซึ่งครองปัจจัยการผลิตเป็นเจ้าของเครื่องจักรเครื่องมือในการผลิตของสังคมและใช้แรงงานรับจ้างโดยจ้างลูกจ้าง พนักงาน ชนชั้นกรรมาชีพ หมายถึงชนชั้นกรรมาชีพรับจ้างสมัยใหม่ซึ่งไม่มีปัจจัยการผลิตของตนเอง ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยการขายพลังแรงงานเพื่อยังชีพ ( หมายเหตุโดยเองเกิลส์ในฉบับภาษาอังกฤษปี 1888 อ่านต่อได้ที่ แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์)

วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ประกายไฟเสวนา ตอน “6 + 1 เดือนรัฐบาลอภิสิทธิ์กับวิกฤติแรงงาน”


12.00 – 16.00 น. วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2552
@ ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา(ตึกหลัง) สีแยกคออกวัว ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ

หลังจากวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งนโยบายหรือมาตราการที่ได้แถลงในวันนั้นมีในส่วนที่สำคัญคือมาตรการเร่งด่วนระยะ 1 ปี โดยในส่วนนี้มีมาตราการเกี่ยวกับผู้ใช้แรงงานโดยตรงเลยคือเรื่องของ การรักษาและเพิ่มรายได้ของประชาชน โดยนายอภิสิทธิ์ ได้เสนอให้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินมาตรการชะลอการเลิกจ้างและป้องกันการขยายตัว ของการเลิกจ้างในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม โดยใช้มาตรการจูงใจเพื่อลดภาระของภาคเอกชนในการชะลอการเลิกจ้างงาน

และเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็ได้แถลงข่าวผลการดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายใต้สโลแกนเท่ๆว่าผ่านชื่อหนังสือว่า " 6 เดือน กว่า 100 มาตราการหลายล้านความสุข" แถมด้วยคำขวัญที่ว่า “ความสุขของคนไทย คือเป้าหมายของรัฐบาล” ในขณะที่เมื่อไม่นานมานี้ นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงการเฝ้าระวังสถานการณ์การเลิกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 มีสถานประกอบการที่ปิดกิจการจำนวน 314 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 30,023 คน สำหรับเดือนที่มีการเลิกจ้างมากที่สุดถึง 12,700 คน คือ เดือนกุมภาพันธ์ 2552 รวมผู้ถูกเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 - 7 พฤษภาคม 2552 มีสถานประกอบการปิดกิจการไปแล้วจำนวน 1,003 แห่ง ได้ทำการเลิกจ้างคนงานไปแล้วจำนวน 84,876 คน นอกจากนี้ยังมีสถานประกอบการที่มีแนวโน้มเลิกจ้าง 429 แห่ง ลูกจ้าง 184,250 คน

ทั้งนี้แรงงานถือเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ขณะนี้กลับถูกเลิกจ้างไม่ต่ำว่าแสนคน แถม ณ ขณะนี้ยังมีแรงงานที่ถูกเลิกจากขนาดใหญ่อยู่ อย่างกรณีการเลิกจ้างพนังงานของบริษัทไทรอัมพ์ถึง 1,959 คน ยังมีแรงงานที่ถูกละเมิดสิทธิ ยังมีการทำลายการรวมตัวหรือสหภาพแรงงานอยู่ ทำให้เราผู้ใช้แรงงาน นักศึกษาซึ่งจะเป็นแรงงานในอนาคตและนักกิจกรรมเกิดข้อสงสัยกับ “100 มาตรการหลายล้านความสุข” ที่รัฐบาลโฆษณานั้นเป็นจริงหรือไม่มากน้อยเพียงใด ในขณะที่ผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศยังประสบกับ “108 ปัญหาหลายล้านความทุกข์” อยู่ ดังนั้นเพื่อให้เกิดการประเมินสถานการณ์ปัญหาและนโยบายของรัฐบาลร่วมกันของภาคแรงงาน อันจะนำไปสู่การหาแนวทางร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหานี้ จึงได้มีการจัดกิจกรรมในรูปแบบของการเสวนาภายใต้ชื่อ ประกายไฟเสวนา ตอน “6 +1 เดือนรัฐบาลอภิสิทธิ์กับวิกฤติแรงงาน”


วัตถุประสงค์
1.เพื่อร่วมกันประเมินสถานการณ์ปัญหาที่แรงงานประสบอยู่ ณ ขณะนี้
2.เพื่อร่วมกันประเมินนโยบายหรือมาตรการของรัฐบาลเกี่ยวกับแรงงานในรอบ 6 + 1 เดือนที่ผ่านมา
3.เพื่อได้ร่วมกันนำเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาแรงงาน


การดำเนินกิจกรรม

12.00 – 13.00 ลงทะเบียน ร่วมพูดคุยกันตามอัธยาศัย
13.00 – 16.00 ร่วมแลกเปลี่ยนไปกับ เสวนา “6 + 1 เดือนรัฐบาลอภิสิทธิ์กับวิกฤติแรงงาน”
นำเสวนาโดย ตัวแทนจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)*
ศรีไพร นนทรี คณะกรรมการกลุ่มสภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง
บุญรอด สายวงศ์ เลขาธิการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ*
ดำเนินรายการโดย
ตัวแทนจากกลุ่มประกายไฟ

* อยู่ในระหว่างการติดต่อ

ติดต่อประสานงาน
E - mail prakaifire@gmail.com หรือ bus4530219@hotmail.com
089-2583641 , 084-6601664
PRAKAIFIRE Blog
http://blogazine.prachatai.com/user/iskra/
http://prakaifire.blogspot.com/
http://prakaifiregroup.hi5.com/
http://www.oknation.net/blog/prakaifire

วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2552

Clip ประกายไฟเสวนา(ภาค Prakaifire in the Move) ตอน สหภาพแรงงาน...ทำไมต้องชนชั้น?

13.00 - 17.00 น. @ หน้าโรงงานไทรอัมพ์ สถานที่ชุมนุมของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ
นิคมอุตสาหกรรมบางพลี ซอย 7 สมุทรปราการ
วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม 2552


นำเสวนาโดย
ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์
คุณ ประกีรติ สัตสุด นักศึกษาปริญาเอก Cultural Anthropology,University of Wisconsin Madison

ดำเนินรายการโดย เทวฤทธิ์ มณีฉาย กลุ่มประกายไฟ